“บ้านป่าปงเปียง” ตั้งอยู่บนดอยสูงในเขตตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากตัวเมืองแม่แจ่มราว 14 กิโลเมตร แม้การเดินทางเข้าถึงค่อนข้างยากลำบาก ต้องไต่สันดอยขึ้นไป กับสภาพถนนดินแดง แคบ ขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ
การเดินทางเข้ามาที่นี่จึงต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้น แต่เพราะ “ทุ่งนาขั้นบันได” ที่ไล่สเต็ปไปตามหุบเขาลดหลั่น กลับเป็นแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต้องดั้นด้นมาตักตวงความสุขกันแบบแนบชิด
เพียงช่วงเวลาไม่นานนัก ราว 3 ปี นาขั้นบันได บ้านป่าปงเปียง เป็นที่รู้จักและกล่าวถึงผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่แวะเวียนกันมาเช็กอิน ทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแวะเยือนอย่างไม่ขาดสาย
“ขนำ” หรือกระท่อมปลายนาของชาวบ้านปกากะญอเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ที่สร้างไว้เพื่อพักผ่อน หลบฝน หลบแดด ขณะออกทำงานกลางทุ่งนา กลายเป็น “โฮมสเตย์” แบบบ้าน ๆ เรียบง่าย มีที่นอน หมอน มุ้ง มีแปลงผักให้นักท่องเที่ยวเด็ดมาทำกับข้าวกินกันริมทุ่ง ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปา เมื่อพลบค่ำมีเพียงแสงเทียนและแสงจันทร์ที่ให้ความสว่าง
จากขนำที่ดัดแปลงเป็นโฮมสเตย์ 1 หลังเมื่อ 3 ปีก่อน ปัจจุบันมีโฮมสเตย์เพิ่มขึ้นจำนวน 11 หลัง ถือเป็นภาพการเปลี่ยนแปลงในเชิงธุรกิจที่ชาวบ้านหันมาลงทุนรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการท่องเที่ยว ทำให้หน่วยงานภาครัฐ
ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ กำลังหาแนวทางป้องกันไม่ให้บ้านป่าปงเปียงเติบโตแบบไร้ทิศทาง ซ้ำรอยแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ
“อรรถชา กัมปนาทแสนยากร” นายอำเภอแม่แจ่ม บอกว่า ป่าปงเปียงเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแม็กเนตของอำเภอแม่แจ่ม ขณะนี้อยู่ในแผนการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญ ล่าสุดได้ประชุมร่วมกับชาวบ้านป่าปงเปียงไปแล้ว 2 ครั้ง ซึ่งพบว่ามีปัญหาการจัดการหลายส่วนต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะรูปแบบบ้าน (โฮมสเตย์) ที่ชาวบ้านสร้างกันขึ้นมาแบบต่างคนต่างสร้าง ไม่มีรูปแบบที่สะท้องถึงวิถีปกากะญอ ซึ่งความเป็นวิถีวัฒนธรรมควรได้รับการอนุรักษ์สะท้อนอยู่ในโฮมสเตย์แต่ละหลัง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเรียนรู้
ขณะที่จุดที่ตั้งของโฮมสเตย์แต่ละหลัง ก็ต้องมีการจัดโซนนิ่ง เพื่อความเป็นระเบียบ ไม่ใช่ใครนึกจะสร้างบริเวณไหนก็สร้างได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน นาขั้นบันได ซึ่งมีระยะของการปลูกจนกระทั่งเก็บเกี่ยวราว 4 เดือนเท่านั้น (ช่วงฤดูฝน) ที่นักท่องเที่ยวจะสามารถเข้ามาท่องเที่ยวได้ แบ่งออกเป็น 3 ช่วงคือ ช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นช่วงเริ่มปักดำนา และเริ่มมีต้นกล้าเล็ก ๆ
ส่วนช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม เป็นช่วงที่ต้นข้าวเติบโตสีเขียวเต็มท้องทุ่ง และเดือนพฤศจิกายน เป็นช่วงสุดท้ายที่ต้นข้าวสีทองอร่าม แต่หลังการเก็บเกี่ยวทุ่งนาขั้นบันไดก็จะมีความว่างเปล่าไปอีก 8 เดือน
ประเด็นนี้จึงสำคัญว่าจะทำอย่างไรกับ 8 เดือนที่เหลือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เช่น ปลูกไม้ดอก โดยได้ข้อสรุปว่าจะปลูกต้นปอเทืองภายหลังการเก็บเกี่ยวนาขั้นบันไดในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะทดลองปลูกเพียง 1 ไร่ก่อน ใช้เวลาเพียง 45 วันก็จะออกดอก และหากมีความเป็นไปได้ก็สามารถปลูกเต็มพื้นที่ จากนาขั้นบันไดก็จะกลายเป็นทุ่งปอเทืองขั้นบันไดสีเหลือง
นอกจากนี้ ปัญหาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องตระหนัก เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้น ขยะก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งหากไม่มีการควบคุมก็จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต ดังนั้น วันนี้จึงต้องวางแนวทางการพัฒนาป่าปงเปียงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน
มิใช่เพียงทุ่งข้าวเขียวขจีที่ใกล้ผลิออกรวงเป็นอาหารหล่อเลี้ยงชาวปกากะญอเพียง 30 ชีวิตบนหุบดอยนี้เท่านั้น ทว่าต้นข้าวทุกต้นบนผืนนาขั้นบันได เป็นภาพความงดงามที่ตราตรึงอยู่ในความทรงจำของใครหลายคนที่มาแวะเยือน
“ป่าปงเปียง” จะเรียบง่าย สงบงาม และยั่งยืนแบบนี้ตลอดไป ต้องคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตวัฒนธรรมอย่างเข้มแข็ง เพื่อไม่ให้ช้ำและซ้ำรอยเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่เติบโตแบบไร้ทิศทางและไร้การควบคุม
แสดงความคิดเห็น