วงการภาพยนตร์จีนบูมใช้ไทยเป็นโลเกชั่น(ตอนต้น)
หลายปีมานี้ ภาพยนตร์จีนที่ยกกองไปถ่ายทำในไทยมีหลายเรื่อง เช่น "Lost in Thailand" และ "Detective Chinatown" เป็นต้น ต่างได้รับเสียงชื่นชมระดับสูงจากผู้ชมชาวจีน พร้อมทำรายได้สูงแบบเหลือเชื่อ นับได้ว่า มนต์เสนห์ที่มีเอกลักษณ์ของประเทศไทยกำลังดึงดูดทีมงานผลิตภาพยนตร์ของจีนจำนวนมากขึ้นให้เดินทางไปสร้างผลงานดีเด่นที่เมืองไทยสถิติล่าสุดจากกองกิจการภาพยนตร์แสดงว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จำนวนทีมถ่ายทำภาพยนตร์ของจีนที่เดินทางมาผลิตภาพยนตร์ในเมืองไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เฉพาะปี 2015 ก็มีถึง 48 กองเดินทางมาถ่ายทำผลงานในไทย ทิวทัศน์อันสวยงามที่น่าทึ่ง วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย บรรยากาศที่เปี่ยมด้วยความกลมกลืนสมานฉันท์ ขั้นตอนพิจารณาและการอนุมัติให้ถ่ายหนังที่สามารถปฏิบัติกันได้อย่างโปร่งใสและสะดวกรวดเร็ว ล้วนเป็นแรงจูงใจสูงสำหรับทีมงานผลิตหนังของจีน
ผู้รับผิดชอบที่เกี่ยวข้องของกองกิจการภาพยนตร์ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์เหรินหมินรื่อเป้าว่า กองถ่ายหนังของจีนที่เดินทางมาถ่ายทำในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปี 2015 บรรดาทีมงานผลิตหนังของจีนสร้างรายได้ให้กับไทยรวมแล้วกว่า 455 ล้านบาท วงเงินลงทุนถ่ายหนังในไทยของภาพยนตร์จีนเฉลี่ยต่อเรื่องอยู่ที่ 28 ล้านบาท
ฉากหนังที่มีทิวทัศน์สวยงาม ย่อมเป็นนามบัตรดีเลิศของประเทศไทยที่สามารถประทับใจผู้ชมชาวจีนอย่างลึกซึ้ง มีส่วนช่วยต่อการชักจูงนักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากขึ้นมาเที่ยวเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ แต่ละปี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจะนัดเชิญทีมงานผลิตหนังที่มีชื่อเสียงของจีนให้มาถ่ายหนังในเมืองไทย
ประเพณีการถ่ายภาพยนตร์ในเมืองไทย เริ่มต้นและเป็นที่นิยมกันในวงการภาพยนตร์ฮ่องกงมาก่อน นายจาง ต้ง ผู้จัดการบริษัท Artop สาขาประเทศไทยเป็นผู้อยู่เบื้องหลังที่ช่วยผลักดันการส่งออกภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ไทยไปยังตลาดจีน บอกผู้สื่อข่าวว่า ทุกวันนี้ ทรัพยากรด้านสถานที่ถ่ายทำของไทยนับวันมีอิทธิพลสูงยิ่งขึ้นในวงการบันเทิงของจีน มีทีมงานผลิตหนังของจีนคัดสรรสถานที่หรือถ่ายหนังอย่างจริงจังในประเทศไทยเกือบทุกวัน
เนื่องจากกองกิจการภาพยนตร์อยู่ใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หากทีมงานผลิตหนังต่างชาติได้รับใบอนุญาตจากกองกิจการภาพยนตร์แล้ว หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็จะช่วยประสานงานให้ไปถ่ายฉากหนังในสถานที่สาธารณะ อุทยานแห่งชาติ สนามบิน จนกระทั่งฐานทัพได้ตามความต้องการ เมื่อปี 2015 ทีมงานผลิตหนัง "Detective Chinatown" ต้องการปิดถนนเพื่อถ่ายทำฉากสำคัญบางฉาก หน่วยงานการท่องเที่ยวก็มาช่วยประสานงานกับหน่วยงานบริหารการจราจร ปิดถนนทั้งสายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทีมงานผลิตหนังของจีนอย่างดี
สำหรับการทำงานของทีมงานผลิตหนังของจีน อุปสรรคสำคัญในขณะนี้คือ เรื่องการสื่อสารเพราะพูดภาษาไทยไม่เป็น จึงต้องนำลูกทีมทุกส่วนจากจีนมาทำงานในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ลูกทีมคนไทยบางทีมีค่าจ้างถูกกว่าคนจีนด้วยซ้ำ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ทีมงานผลิตหนังของจีน กองกิจการภาพยนตร์กำลงส่งเสริมให้ลูกทีมของทีมงานถ่ายทำดีเด่นของไทยเรียนภาษาจีน เป็นมาตรการกระตุ้นผู้ผลิตหนังของจีนให้มาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น แถมประหยัดต้นทุนด้วย
ประเทศไทยลือชื่อด้วยความได้เปรียบในการถ่ายทำและตัดต่อภาพยนตร์อย่างมีคุณภาพสูงแต่ต้นทุนต่ำมาเป็นเวลาเนิ่นนาน หนังฮอลลีวู๊ดเลื่องชื่อ เช่น "The Man With The Golden Gun" และ "The Killing Fields" ช่วงทศวรรษ 1970 – 1980 ล้วนถ่ายทำในเมืองไทย นับเป็นสัญลักษณ์ที่ฮอลลีวู๊ดเปิดประตูแห่งการไปผลิตหนังในเมืองไทย ขณะเดียวกัน ก็มีส่วนช่วยต่อการผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยให้พัฒนาอย่างรวดเร็ว
ที่มา : Cri.cn
แสดงความคิดเห็น