เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น เกิดเรื่องสั่นสะเทือนสำหรับวงการธุรกิจท่องเที่ยวไทย เมื่อเกิดกระแสข่าวผ่านสังคมออนไลน์ว่าคนไทยต่อต้านนักท่องเที่ยวจีน ส่งผลให้คนจีนบอยคอตมาเที่ยวเมืองไทย
แม้แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในตอนหนึ่งว่า “นายกรัฐมนตรีของจีนก็เป็นห่วงว่าคนไทยจะไม่ชอบนักท่องเที่ยวจีน ตนก็บอกหลายครั้งแล้วว่าใครจะไปจะมาขึ้นอยู่กับการตัดสินใจ หน้าที่ของเรา คือการดูแลความปลอดภัย เป็นเจ้าบ้านที่ดี ต้องเคารพกฎหมายซึ่งกันและกัน ไม่สร้างความเกลียดชัง”สาเหตุความกังวลย่อมเป็นที่รู้กันในหมู่คนไทย เพราะแต่ละปีจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากจีนเข้าสู่ไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปี 2558 มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเติบโตมากถึง 7,934,791 คน คิดเป็นสัดส่วน 26.55% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวม 29,881,091 คน เติบโต 71.14% และเป็นปีที่ไทยมีรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 88.10% จากปี 2557 มีรายได้ราว 2 แสนล้านบาท ขยับเป็น 3.76 แสนล้านบาท หรือเพิ่มกว่า 1.76 แสนล้านบาท
ล่าสุด นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือแอตต้า โดยนายเจริญ วังอนานนท์ ได้ออกมายืนยันว่ากระแสข่าวดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว ท่องเที่ยวตลาดจีนยังคึกคัก ทั้งเดินทางด้วยตนเอง (เอฟไอที) และเดินทางผ่านบริษัทนำเที่ยว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการจีนเข้าใจปัญหาเรื่องนี้ และช่วยประชาสัมพันธ์การปฏิบัติตัวระหว่างมาท่องเที่ยวเมืองไทยโดยตลอด ทำให้คนจีนอีกจำนวนมากเข้าใจปัญหานี้ดี
ประกอบกับอานิสงส์จากกรณีพิพาททะเลจีนใต้ระหว่างจีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และจีนกับไต้หวัน จากนโยบายการปกครองที่ขัดแย้งกัน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ทดแทน
และไทยถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับต้นๆ ของเอเชีย
สมาคมจึงได้แนะนำสมาชิกให้เตรียมแผนรับมือนักท่องเที่ยวจีนที่อาจจะทะลักเข้ามาเพิ่มพิเศษอีกกว่า 1.5 ล้านคน ในช่วง 5 เดือนสุดท้ายของปี (สิงหาคม-ธันวาคม) หรือทำให้ทั้งปี 2559 สมาคมคาดการณ์ว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่ต่ำกว่า 509,135 ล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยสูงถึง 11-13 ล้านคน
สูงกว่าที่ประมาณการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. คาดไว้ที่ 10.4 ล้านคน
“แนวทางในการป้องกันปัญหาที่สำคัญ นอกจากให้คนไทยพยายามสร้างเข้าใจ และช่วยกันระมัดระวังเรื่องการสื่อสาร การมองภาพลักษณ์ที่เป็นลบต่อนักท่องเที่ยวจีนบนสื่อโซเชียลมีเดียแล้ว ปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยต่อนักท่องเที่ยวก็ถือว่าสำคัญมาก ในช่วงที่จำนวนนักท่องเที่ยวจีน หรือจากประเทศอื่นๆ เข้ามาเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น ถือเป็นประเด็นหลักของรัฐบาลที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อรองรับการเติบโตด้านท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เบื้องต้น สมาคมได้แนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีการจัดเก็บสถิติการเสียชีวิต บาดเจ็บของนักท่องเที่ยว รวมถึงสถานที่ที่มีการเกิดอุบัติเหตุของนักท่องเที่ยว โดยอาจจะเริ่มต้นที่ 10 ประเทศ ที่มีการเดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด เพราะการได้รู้จำนวนและสถานที่เกิดเหตุที่แน่นอน จะสามารถเข้าไปแก้ปัญหาตรงจุดได้ เพื่อลดปริมาณการบาดเจ็บและเสียชีวิตลง
ต้องยอมรับว่าปัจจุบันเรื่องความปลอดภัย ถือเป็นจุดอ่อนของไทย จากสถิติที่สมาคมเก็บได้ พบว่าเฉพาะตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตในไทยปี 2558 มีจำนวนสูงถึง 103 ราย แบ่งเป็น จมน้ำเสียชีวิต 49 ราย อุบัติเหตุทางน้ำ 2 ราย อุบัติเหตุทางการจราจร รถชน รถทัวร์พลิกคว่ำ 22 ราย ขณะที่กระทรวงท่องเที่ยวรายงานว่า มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเสียชีวิตในไทยปี 2558 ประมาณ 96 ราย ซึ่งต่ำกว่าความจริง จึงอยากให้หน่วยงานรัฐมีมาตรฐานในการจัดเก็บมากกว่านี้ เพื่อการแก้ปัญหาให้ตรงจุด”
เช่นเดียวกับ น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) ที่ยอมรับว่า กระแสข่าวดังกล่าวกระทบต่อพื้นที่ท่องเที่ยวในภาคเหนือบางส่วนเท่านั้น แต่ไม่ได้เกิดจากกระแสคนจีนบอยคอตไม่มาท่องเที่ยวไทย เพราะเห็นว่าคนไทยอาจจะไม่ค่อยชอบ แต่เป็นเพราะกฎระเบียบใหม่จากกรมการขนส่งที่ระบุให้นักท่องเที่ยวจีนที่จะขับรถมาเที่ยวเมืองไทย ผ่านด่านในจังหวัดภาคเหนือ ต้องแจ้งดำเนินการล่วงหน้า 30 วัน เพื่อเป็นการจัดระเบียบลดปัญหาอุบัติเหตุทางการจราจร จึงทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปช่วงระยะสั้นๆ พอคนจีนปรับตัวได้ การท่องเที่ยวก็จะกลับมาปกติ
แนวทางสำคัญรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น คือ การประชาสัมพันธ์ระเบียบ หรือข้อแนะนำใหม่ๆ ตามที่ภาครัฐมีมติออกมา ให้คนจีนได้รับทราบก่อนมาเที่ยวเมืองไทยในวงกว้างมากกว่านี้ และเร็วขึ้น ตลอดจนการเพิ่มภาษาจีนบนป้ายจราจร หรือป้ายประชาสัมพันธ์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้คนจีนช่วยเหลือตนเอง ตลอดจนเข้าใจความต้องการของคนไทยด้วยตัวเองมากขึ้น
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. สำหรับมาตรการระยะสั้น ททท.ได้เชิญสื่อมวลชนจากจีน ประกอบด้วย ซีซีทีวี ทีวี และเว็บไซต์ซินหัว พีเพิล เดลี่ และ @Mangu ซึ่งเป็นฟรีก๊อบปี้ในเมืองไทย มาทำความเข้าใจกรณีมีข่าวผ่านสังคมออนไลน์ว่าคนไทยต่อต้านนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมีเฉพาะในจังหวัดเชียงรายเพียงแห่งเดียว หรือคิดเป็น 1% ของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยเท่านั้น
หลังกรมการขนส่งทางบกได้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบการนำรถยนต์ข้ามแดนมาไทย ซึ่ง ททท.ได้ชี้แจงว่าไม่ใช่การเลือกปฏิบัติกับนักท่องเที่ยวชาติใดชาติหนึ่ง จึงไม่อยากให้ตีความว่ากีดกันนักท่องเที่ยวจีน ส่วนมาตรการระยะยาว
แม้ปี 2560 ททท.ตั้งเป้าหมายให้มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาไทย 10.8 ล้านคน เติบโต 3.8% จากปีนี้ สร้างรายได้ 5.74 แสนล้านบาท เติบโต 9.1% จะสังเกตได้ว่าเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่ไม่ได้เพิ่มสูงมาก เนื่องจาก ททท.เบนเข็มให้ความสำคัญกับกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีศักยภาพในการใช้จ่ายจากทุกตลาด ซึ่งรวมถึงตลาดจีน
เท่ากับว่า ต่อไปนี้จำนวนนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญ แต่ความสามารถในการใช้จ่ายต่อหัวถือว่าเป็นอันดับหนึ่ง โดยจะผลักดันนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ให้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มเป็น 55,500 บาทต่อคนต่อทริป จากปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 50,454 บาทต่อคนต่อทริป
ขณะที่ นายเลิศชาย หวังตระกูลดี ผอ.ททท.สำนักงานเชียงราย กล่าวว่า ช่วงนี้ที่นักท่องเที่ยวจากจีนลดลงไปเนื่องจากเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากนัก เรื่องดังกล่าวทางสำนักงานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยประจำคุนหมิงให้ข้อมูลว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาก่อเหตุไม่เหมาะสมในไทยนั้นทางการจีนมีมาตรการลงโทษ ห้ามออกนอกประเทศ 10-15 ปี
ส่วนของคนจีนส่วนใหญ่ต้องการเดินทางมาเที่ยวไทย ถือว่าเป็นแฟนคลับของไทยเลยก็ว่าได้
ซึ่งก็แน่นอนหลังจากมีกระแสต่อต้านจากคนไทย ทางการจีนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้สั่งการให้อบรมและให้ความรู้เกี่ยวกับมารยาทและการเดินทางมาในประเทศไทย รวมถึงการขับขี่รถยนต์เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พบว่ามีชาวจีนกลุ่มหนึ่งเริ่มบอยคอต ไม่เดินทางไปเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้กิจการโรงแรมและท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ” ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย กล่าว
นางนงคราญ อ่อนคำเหลือง ผู้จัดการทั่วไปโรงแรม ฟอร์จูน ริเวอร์วิว เชียงของ กล่าวว่า เกี่ยวกับผลกระทบจากนักท่องเที่ยวจีนพบว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้าพักเพียง 1-2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งต่างจากเดิมที่มีประมาณ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าลดลงไปมาก โดยทางโรงแรมก็ได้มีการปรับเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเป็นกลุ่มการประชุมสัมมนา และดูงานตามนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพื่อทดแทนปริมาณลูกค้าที่เสียไป
นายสัมฤทธิ์ ไหคำ อดีตนายกสมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ ให้ความเห็นว่า จะต้องกังวลใจไปทำไม เพราะตามความเป็นจริงเราประเมินกันไว้แล้วว่านักท่องเที่ยวจาก 8 ล้านคน ต้องเป็น 13 ล้านคน และจากกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในเวียดนามและไต้หวันนั่นคือ ส้มหล่นของไทยแน่นอนอยู่แล้ว เพราะนักท่องเที่ยวจีนไปไต้หวันเป็นอันดับหนึ่ง เมื่อจีนไม่พอใจไต้หวัน เป้าหมายการท่องเที่ยวก็ต้องมาไทย เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2559 เชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวมาไทยจะดีขึ้นมาก และไม่มีผลกระทบเลย
ความจริงเรื่องนี้ไม่ควรพูดเพราะไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัด ไม่ได้รู้จริงในเรื่องราวของจีน แต่กลับทำให้กลายเป็นประเด็นขัดแย้ง เรื่องแบบนี้แม้จะจริงแต่ก็ละเอียดอ่อนเกินกว่าที่จะพูดในทางสาธารณะ แต่ต้องเก็บมาหารือร่วมกันหาทางแก้ไขในวงเฉพาะ
“การหาทางออกด้วยการออกสติ๊กเกอร์เท่ากับเรายอมรับผิด เป็นจำเลยของจีน จึงต้องขอโทษ ทั้งที่ไม่เป็นความจริง สะท้อนถึงความไม่จริงใจของเราซ้ำเข้าไปอีก ไม่อยากเห็นว่าทำแบบไฟไหม้ฟาง แต่เราต้องกลับไปดูต้นเหตุว่าเกิดจากอะไร”
ที่มา มติชนออนไลน์
ภาพ : chiangmaiairportthai.com
แสดงความคิดเห็น