เที่ยววันผู้ไทโลก เฮินพู่ไทกะตะ
“โฮมเจ๋อกิ๋นข้าวแลง เบิ่งแยงฮีตผู้ไท” บันทึกชาว “ผู้ไทกะตะ” หรือ “พู่ไทกะตะ” แห่งบ้านโนนหอม ต.โนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร ได้จดจารึกบันทึกชาติพันธุ์ของพวกเขาว่า น่าจะมีพัฒนาการมากว่าพันปีหรือหมื่นปีจากนั้นถึงเริ่มสร้างบ้านแปงเมืองขึ้น ณ บริเวณ “เมืองนาน้อยอ้อยหนุ” หรือก็คือ “เมืองแถน” แคว้นสิบสองจุไท ตรงริมฝั่งแม่น้ำฮมหรือแม่น้ำรม ทางตอนเหนือของประเทศเวียดนามปัจจุบันที่กำลังโตวันโตคืน สามารถก้าวผงาดขึ้นเป็นผู้นำเศรษฐกิจติดอันดับ 3 ในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน
บันทึกจารึกของผู้ไทกะตะ ยังบอกอีกว่า แม่น้ำฮมได้ไหลไปบรรจบแม่น้ำนัวรวมกันเป็น “แม่น้ำสมรม” ไหลต่อไปบรรจบเป็นคำรบสองกับแม่น้ำอู สุดท้ายไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่เมืองขวาซึ่งน่าจะใช่เมืองหลวงพระบาง ที่ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นเมืองมรดกโลกจากยูเนสโก
เพราะธรรมชาติของสายน้ำที่ไหลเป็นทางยาวอันไกลแสนไกลนี้เอง ที่เป็นปัจจัยให้ชาวผู้ไทเกิดการไหลขยับเขยื้อนเคลื่อนถิ่นกันเรื่อยมาตามริมฝั่งแม่น้ำฮม แม่น้ำสมรม แม่น้ำอูสู่แม่น้ำโขง กระทั่งบางส่วนเคลื่อนย้ายต่อไปยังอาณาจักรเทียนผู้เรียกขานตัวเองว่า “ไทหรือไท้” อยู่ทางมณฑลยูนนานตอนใต้ของประเทศจีน กับอีกบางส่วนถอยร่นต่อลงมายังตอนกลางของประเทศลาวทางแขวงคำม่วนและสะหวันนะเขต ส่งผลให้ชาวผู้ไทเกิดกลมกลืนเป็นชาติพันธุ์ผูกพันกัน 3 ฝ่ายมานานคือ เวียดนาม จีนและลาว
กระแสการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานทำกินมิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ตรงแผ่นดินลาวเท่านั้น หากแต่ยังลื่นไหลข้ามฝั่งโขงเข้าสู่พื้นที่ฝั่งตะวันออกทางภาคอีสานบ้านเฮาเมื่อวันเวลากว่า 200 ปีที่ผ่านมา แล้วก็แสวงหาถิ่นฐานใหม่ทำกินเริ่มกันตั้งแต่นครพนม ลงมาทางมุกดาหาร
ไล่เรื่อยไปจนถึงอำนาจเจริญ อุบลราชธานี กับบางส่วนเลือกเคลื่อนย้ายไปจนถึงยโสธร
อีกส่วนหนึ่งเลือกพื้นที่ทำกินทางแถบเทือกเขาภูพานทั้งสกลนคร กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และไกลไปถึงอุดรธานีก็มีให้เห็นจนทุกวันนี้
วิถีชีวิตชาวผู้ไทน่าสนใจตรงที่เป็นกลุ่มคนช่างขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพเลี้ยงครอบครัว โดยฝ่ายชายจะนิยมทำการค้าทั้งในถิ่นตนเองและออกเร่ขายสินค้ายังต่างถิ่นใกล้ไกลสลับทำนาตามฤดูกาล ขณะที่แม่บ้านจะถนัดยึดงานหัตถศิลป์ถักทออยู่กินกับเรือนชาน
นอกจากนี้ชาวผู้ไทยังได้ชื่ออีกว่าเป็นชุมชนที่เหนียวแน่นในเรื่องรู้รักษาศิลปวัฒนธรรมตนเอง ทั้งภาษาพูด ภาษาเขียน รวมถึงธรรมเนียมพื้นบ้าน อาหารการกิน ศิลปะการแสดงแบบฟ้อนรำอันเป็นเอกลักษณ์ดั้งเดิม
และที่หนักแน่นกว่าอย่างอื่นก็คือ คนกลุ่มนี้นิยมอยู่รวมกลุ่มสังคมกันเอง ไม่ชอบให้คนจากสังคมภายนอกเคลื่อนย้ายเข้าไปอาศัยรวมกัน เพราะเกรงปัญหาอื่นๆจะเคลื่อนย้ายตามมาในภายหลัง...
ด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เกื้อหนุนให้พวกเขาสามารถเลี้ยงตนอยู่บนฝ่ามือของตนเองได้ ทุกชุมชนชาวผู้ไทในแดนอีสานจึงเมินที่จะเคลื่อนต่อไปยังถิ่นหนึ่งถิ่นใดอีก และคงใช้ชีวิตสืบสานทายาทถ่ายสู่กันแบบรุ่นสู่รุ่นกันต่อๆมา บนวิถีชีวิตแบบรักษาเค้าโครงดั้งเดิมเอาไว้ให้ได้มากสุดเท่าที่จะมากได้
ความเป็นตัวตนของชุมชนชาวผู้ไท ทำให้เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2554 ได้เกิดมีการรวมพลังครั้งยิ่งใหญ่ในกลุ่มผู้ไท อ.เรณูนคร จ.นครพนม จัด “วันผู้ไทโลก” ขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประจำปี โดยมีการเชิญชุมชนชาวผู้ไทจากทุกหนแห่งทั้งในไทย และจากลาว เวียดนาม จีนตอนใต้ ไปรวมตัวกันที่นั่น เพื่อแสดงออกด้านเอกลักษณ์ร่วมกันในวันนั้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในปฐมบทได้ในระดับหนึ่ง
การขับเคลื่อนพลังชุมชนผู้ไทมิได้หยุดอยู่แค่นั้น ในปีต่อมา ดร.วิทยา อินาลา อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครพนม ได้ไปดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งสมาคมผู้ไทโลกสำเร็จอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 เพื่อให้เป็นจุดศูนย์กลางเชื่อมประสานชนชาติพันธุ์ผู้ไทที่ต่างชาติต่างภาษา
แล้วก็จัดงานวันผู้ไทโลกต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีมาถึง 5 ครั้ง โดยปีนี้... “ชุมชนผู้ไทกะตะ” บ้านโนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดงานเป็น ครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 15–17 มกราคมนี้ ที่บริเวณเฮินพู่ไทกะตะ บ้านโนนหอม
ลักษณะรูปแบบงานที่นำมาใช้ก็เป็นภาษาผู้ไทท้องถิ่นบ้านโนนหอม ชื่อ “วันผู้ไทโลก เท่อ 6 โฮมเจ๋อ กิ๋นข้าวแลง เบิ่งแยงฮีตผู้ไท ดีเจ๋อประทับใจ...สกลนคร” ถอดความออกมาได้ว่า วันผู้ไทโลกครั้งที่ 6 ร่วมกันกินข้าวยามเย็น ดูประเพณีผู้ไท ดีใจประทับใจ...สกลนคร
อุทัย อภิวาทนสิริ ประธานชมรมผู้ไทสกลนคร ผู้ได้รับมอบหมายจากสมาคมผู้ไทโลกให้เป็นแม่งานบอกว่า เคยไปร่วมงานวันผู้ไทโลกที่เรณูนครมาเป็นประจำทุกปี และด้วยเห็นว่า จ.สกลนครเป็นถิ่นที่มีผู้ไทอยู่มากสุดในไทยถึง 200,000 คน ขณะเรณูนครมีประชากรผู้ไททั้งอำเภอราวๆ 40,000 คน จึงขันอาสาขอรับไปจัดงานปีนี้
“พอสมาคมผู้ไทโลกอนุมัติให้จัดได้พร้อมสนับสนุนงบฯบางส่วน เราก็เริ่มดำเนินงานโดย อบจ.สกลนครให้งบฯสนับสนุนอีก 2.7 ล้านบาท และจังหวัดสกลนครก็ยินดีให้ความร่วมมือ การทำงานทั้งหมดตกลงที่จะใช้ผู้ไทกะตะบ้านโนนหอมนี่แหละ ทำกันแบบไม่ใช้เอกชนมืออาชีพรายใดเข้าไปช่วยจัดการ เพราะมั่นใจว่า...พู่ไทกะตะทุกคนทำได้”
อุทัยยืนยันในข้อนี้ บอกอีกว่า ได้เลือกใช้พื้นที่ทุ่งหนองฮาก 15 ไร่กลางบ้านโนนหอมเป็นสถานที่จัดงาน มีการจำลองบ้านผู้ไท 18 หลังจาก 18 อำเภอในสกลนคร และทุกหลังจะมุงหลังคาด้วยหญ้า เลี่ยงการใช้เต็นท์ผ้าใบ เพื่อให้ดูเป็นเรือนผู้ไทที่ใกล้เคียงความจริง มีการแสดงประเพณีผู้ไทแบบฮีต 12 คอง 14 ผสมผสานวัฒนธรรมการแต่งกาย อาหารการกิน กระทั่งการสื่อภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
มีการแข่งขันกีฬาพื้นบ้านขนานแท้ที่คนรุ่นใหม่หรือคนต่างถิ่นอาจส่ายหัวไม่รู้จัก เช่น วิ่งแบบมะเด้งด้าง แต่ถ้าบอกวิ่งโถกเถกคนอีสานร้อง “แม่น! แม่น!”...การแข่งขันดึงกาบหมาก และแข่งมะกิ้งล้อด้วยรถที่แล่นด้วยล้อไม้อะไรทำนองนี้...งานนี้มีการเชิญเหล่าผู้ไทจากประเทศเพื่อนบ้านกับผู้ไทจากทั่วทุกสารทิศในไทยมาร่วมม่วนซื่น กับเอ่ยปากร้องขอให้ชาวผู้ไททุกครัวเรือนช่วยกันเรียกบรรดาลูกๆหลานๆที่ไปทำมาหากินต่างถิ่นได้กลับมาร่วมงาน
เพื่อแสดงอัตลักษณ์ในความเข้มแข็งของชนกลุ่มผู้ไทให้โลกประจักษ์
สมฤดี จิตรจง ผอ.ภูมิภาคภาคอีสาน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกว่า ททท.ได้เริ่มส่งเสริมให้วิถีชุมชนคนกลุ่มนี้เป็นทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมมาตั้งแต่ปี 2517 ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งก็ได้ผลมาถึงวันนี้ “งานวันท่องเที่ยวโลก ททท.ภูมิภาคอีสานให้การส่งเสริมต่อเนื่องทุกปี เพราะมองเห็นว่ามีศักยภาพสูงในการนำเสนอขาย ปีนี้ก็โฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อฯทุกชนิดรวมถึงสื่อออนไลน์อย่างกว้างขวาง พร้อมกับประสานสมาคมท่องเที่ยวให้ขายบริการนำเที่ยวไปร่วมงาน และในช่วงงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทยที่สวนลุมพินีในวันที่ 13-17 เดือนนี้ ก็ได้นำวิถีชุมชนผู้ไทกาฬสินธุ์ไปแสดงกิจกรรมสาธิตอีกด้วย”
หากทุกภาคส่วนร่วมใจกันจัดกิจกรรมขึ้นมาอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าที่ไหน...โอกาสที่เราจะกระตุ้นตัวเลขนักท่องเที่ยวเข้าสู่อีสานก็น่าจะสูงขึ้น...เป้าหมายปีละ 9–10 ล้าน คงไม่ไกลเกินเอื้อม.
ที่มา : thairath
แสดงความคิดเห็น