“พลังปัญญา” ปลุกความคิด สร้างปัญญา
พัฒนาต่อยอด สู่ชุมชนที่เข้มแข็ง
ด้วยเป้าหมายที่จะน้อมนำศาสตร์พระราชามาเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนให้มีความสุขอย่างยั่งยืน “โครงการพลังปัญญา” ที่ได้ดำเนินงานเข้าสู่ปีที่สาม โดยมุ่งหวังส่งเสริมวิธีคิดและแนวทางการบริหารจัดการชุมชนด้วยปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ผู้นำเกษตรกรได้มีกระบวนการปรับเปลี่ยนวิธีคิดสู่การต่อยอดทางความคิดสามารถพึ่งพาตนเอง เพิ่มรายได้ให้แก่ครอบครัวและชุมชน ตามหลักการ “ง่าย ไว ใหม่ใหญ่ ยั่งยืน และมีความสุข” สู่การปฏิบัติเพื่อการพัฒนาได้อย่างยั่งยืนเพื่อเป็นการขับเคลื่อนโครงการพลังปัญญาให้เกิดความต่อเนื่อง เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มูลนิธิมั่นพัฒนาได้มอบทุนหมุนเวียนพลังปัญญา จำนวนทั้งหมด 28 โครงการ โดยแบ่งออกเป็นภาคเหนือ 16 โครงการ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 โครงการ ให้แก่กลุ่มผู้นำชุมชนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือระดับ 2 ที่ผ่านการอบรมและสอบผ่านหลักสูตรผู้นำพลังปัญญาประจำปี 2560 ณ สิงห์ปาร์ค (ไร่บุญรอด) จังหวัดเชียงราย
ตัวอย่างโครงการที่ได้รับทุนหมุนเวียนพลังปัญญาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เรียนรู้ตลาด พัฒนาพันธุ์พืชเกษตร
นางสาวออมทรัพย์ เวชยันต์วาณิชชัย อายุ 53 ปี ปลัดเทศบาลตำบลบางทรายใหญ่ จังหวัดมุกดาหารผู้มีหัวใจรักในการทำเกษตรกรรม ประธานโครงการพันธุ์ไผ่ กล้วย นาว มาที่นี่ กล่าวว่า โครงการฯนี้เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกเกษตรกรที่ปลูกกล้วย ปลูกไผ่ ปลูกมะนาวโดยมีแนวคิดที่อยากจะแบ่งปันองค์ความรู้ในเรื่องการทำเกษตรร่วมกัน จึงรวมตัวจัดตั้งเป็นโครงการฯ พัฒนาต่อยอดองค์ความรู้เดิมผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิปัญญาชาวบ้าน และศาสตร์พระราชามาช่วยในการพัฒนาพันธุ์พืชทางเกษตรในเรื่องต่างๆ เช่นต่อกิ่ง เพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ของต้นกล้าเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางของการส่งออกต้นกล้า และขยายพันธุ์พืช (กิ่งไผ่ กิ่งมะนาว และพันธุ์กล้วย) ให้กับผู้ที่สนใจ นอกจากนั้นยังมีการปรับปรุงสินค้าเกษตรในท้องถิ่นให้เป็นสินค้าที่มีคุณภาพและมีมูลค่าสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนนำไปสู่การพัฒนาชุมชนที่เข้มแข็งและยั่งยืนได้วัตถุประสงค์ของการจัดทำโครงการฯ คือ การส่งเสริมสินค้าทางการเกษตรและพัฒนาศักยภาพของสมาชิก โดยเริ่มเรียนรู้จากการทำเกษตรอินทรีย์ การเพาะพันธุ์ ขยายพันธุ์ เพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ นอกจากนั้นทางกลุ่มยังพยายามปรับปรุงพันธุ์ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น โดยการคิดค้นและทดลองนำมะนาวแป้นพันธุ์ของพิจิตรมาผสมกับสายพันธุ์ดั้งเดิม และลองปลูกในพื้นที่ของสมาชิก ผลปรากฏว่าสามารถพัฒนามะนาวให้สามารถปลูกและมีผลผลิตที่เพิ่มขึ้น กลายเป็นมะนาวพันธุ์ใหม่ชื่อว่า “ราชินีมุกดาหาร” ที่ให้ผลที่ใหญ่ และให้น้ำได้ในปริมาณมากกว่าสายพันธุ์เดิม
“เดิมต่างคนต่างปลูก ไม่ได้รวมกลุ่ม แบ่งปันกันเหมือนทุกวันนี้ ใครมาซื้อก็ขาย แต่เมื่อได้รวมกลุ่มกัน ทำให้มีการแบ่งปันร่วมกัน โดยเฉพาะการแบ่งปันความรู้เพื่อที่จะต่อยอดและขยายผลต่อไปซึ่งทางกลุ่มตั้งเป้าจะขยายพันธุ์พืชแต่ละชนิดออกสู่ตลาดให้ได้มากขึ้น” นางสาวออมทรัพย์กล่าว
สืบสานวัฒนธรรม ลายผ้าโบราณ
นายณฏฐกฤต กาษี อายุ 46 ปี ข้าราชการผู้ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ลายผ้าโบราณของภาคอีสาน ประธานโครงการผ้าครามอารยธรรมพันปี จังหวัดสกลนคร กล่าวว่า โครงการฯ เกิดจากการรวมกลุ่มของคน 3 จังหวัด คือ สกลนคร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ ที่มีความสนใจและศึกษาในเรื่องผ้าเหมือนกันจนเกิดเป็นการจัดตั้ง ผ้าครามอารยธรรมพันปี ประกอบกับจังหวัดสกลนครมีจุดเด่นในเรื่อง “ผ้าคราม” จึงเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าเราควรจะนำสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาหรือดัดแปลงให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งก็คือการนำของดีของแต่ละจังหวัดที่มีจุดเด่นในเรื่องผ้าที่แตกต่างกันมาต่อยอดด้วยการนำเอกลักษณ์ลายผ้าท้องถิ่นของภาคอีสานมาออกแบบลวดลายให้มีความทันสมัยและใส่เรื่องราวความเป็นมาของลายผ้าให้มีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นผ้าครามของกลุ่มจะมีความแตกต่างจากผ้าครามของที่อื่นตรงที่ ได้นำลวดลายโบราณในแต่ละจังหวัดของภาคอีสานที่มีความโดดเด่น และมีลายเฉพาะท้องถิ่น นำมาประยุกต์ให้เข้ากับความทันสมัย ด้วยการนำลายผ้าที่สูญหายหรือไม่ได้รับความนิยม ให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ซึ่งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมที่สูญหายไปผสมผสานกับภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยการใช้สีครามจากธรรมชาติมาสร้างให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อาทิ ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ เสื้อลายคราม มาลัยผ้าคราม เป็นต้น แผนการดำเนินงานของโครงการฯ ที่ตั้งใจไว้คือ การรวบรวมลายผ้าโบราณที่มีความโดดเด่นของแต่ละท้องถิ่นให้ได้ครบ 20 จังหวัดของภาคอีสาน นำมาถ่ายทอดบนผ้าครามซึ่งสะท้อนถึงวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ถือว่าเป็นจุดเด่นของการรักษาลายผ้าไม่ให้สูญหายรวมทั้งเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ในอนาคตหากสามารถรวบรวมลายผ้าได้ครบทุกจังหวัด ทางกลุ่มจะนำมาจัดทำเป็น “คู่มือบันทึกลายผ้าโบราณ” เพื่อผู้ที่สนใจจะสามารถเข้ามาเลือกและออกแบบลายผ้าได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นทุนหมุนเวียนพลังปัญญาที่ได้รับจะนำไปพัฒนาต่อยอด ในการออกแบบพัฒนาลวดลายใหม่ๆ รวมถึงการนำไปเป็นทุนความรู้ให้กับชาวบ้านในเรื่องกระบวนการผลิตผ้าครามที่เป็นลวดลายต่าง ๆ ให้สามารถผลิตออกมาจำหน่าย ก่อให้เกิดรายได้ในชุมชน และพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง และครอบครัวให้ดีขึ้น
“เราได้น้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในเรื่องกระบวนการทำงาน คือการรู้จักตนเอง รู้ว่าเราชอบและต้องการจะทำอะไร โดยการทำงานเรายึดหลักความมีเหตุผล ไม่เร่งหรือไม่รีบมากเกินไป ทำเท่าที่เราทำได้ นอกไปจากนี้ที่สำคัญคือการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องลายผ้า การทำงานให้เข้ากับชาวบ้านในชุมชน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นการต่อยอดสร้างมูลค่าให้แก่ผืนผ้า ก่อให้เกิดความยั่งยืน เกิดการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากชุมชนสู่ชุมชน เพื่อท้ายที่สุดลายผ้าโบราณและกรรมวิธีการทำจะไม่สูญหายไป” นายณฏฐกฤตกล่าว
ค้นหาอัตลักษณ์ สร้างชุมชนเข้มแข็ง
ดร.สรรเพชร เพียรจัด อายุ 37 ปี อาจารย์คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ นักวิชาการที่มีความสนใจเรื่องการยกระดับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีคุณค่าและมูลค่าประธานโครงการรับสร้างอัตลักษณ์ชุมชนเพื่อชุมชน จังหวัดบุรีรัมย์กล่าวว่าปัจจุบันสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายในแต่ละชุมชนยังคงวางจำหน่ายในรูปแบบเดิมๆ ทำให้มูลค่าของสินค้าถูกลดคุณค่าและราคาลง จึงเป็นที่มาของแนวคิดในการจัดตั้งโครงการฯ ที่ส่งเสริมการสร้างอัตลักษณ์เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้มีมูลค่าหรือเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้าและเป็นที่น่าสนใจของตลาดมากขึ้นโครงการฯ นี้มุ่งค้นหาอัตลักษณ์ของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักวิชาการกับชาวบ้านในชุมชน ในการค้นหาว่าแต่ละชุมชนมีของดีหรือสินค้าอะไรที่น่าสนใจ แต่ยังขาดการสร้างอัตลักษณ์ หรือความเป็นเอกลักษณ์ในการแสดงสินค้าดังนั้นนักวิชาการจึงเข้าไปมีบทบาทช่วยสร้างหรือค้นหารวมกันกับชาวบ้าน โดยการรับฟังและปรับความคิดเพื่อรับฟังว่าชาวบ้านต้องการอะไรที่แท้จริง เราเข้าไปตรงนี้เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมองเห็นตัวตนของชุมชนและรู้ว่าตนเองต้องการอะไรนอกจากนั้นการดำเนินงานยังได้รับความร่วมมือจาก 3 สถาบันการศึกษา ที่แต่ละสถาบันมีความถนัดความเชี่ยวชาญแตกต่างกันไปจะเข้ามาทำหน้าที่ร่วมกันบริหารจัดการให้ข้อเสนอแนะและทำงานร่วมกันกับชุมชน ได้แก่มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ จะทำหน้าที่เป็นมหาวิทยาลัยแม่ข่าย ดูแลบริหารจัดการโครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย ดูแลพื้นที่ผลิตภัณฑ์ในจังหวัดเลยและใกล้เคียงมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ดูแลพื้นที่ผลิตภัณฑ์ในจังหวัดอุบลราชธานีและใกล้เคียงโดยหลัก 3 สถาบันจะเป็นศูนย์กลางทางปัญญาในการค้นหาอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อบูรณาการในการทำงานร่วมกับชุมชนและต่อยอดในสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการพลังปัญญา
“ทั้งหมดนี้คือการทำงานแบบเชื่อมโยง เชื่อมนักวิชาการเข้าหากับชาวบ้าน ชุมชนโดยตรงเพื่อให้สามารถถ่ายทอดเอกลักษณ์ที่เป็นจุดเด่น หรือสำคัญ ของแต่ละชุมชนออกมา โดยต้องไม่ละทิ้งความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของชุมชนนั้น”ดร.สรรเพชรกล่าว
ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ด้วยปัญญา สร้างผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น
นางสาวจิราทิตย์ เนื่องนา อายุ 48 ปี ประธานโครงการมะขามป้อมพันปี ดีเกินร้อยจังหวัดนครราชสีมา เล่าว่า ที่มาของการจัดทำโครงการฯ เกิดจากการที่ตนเองเป็นคุณครูสอนหนังสือที่สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการฝึกอาชีพให้แก่นักศึกษา ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการถนอมอาหาร และแปรรูปผลิตภัณฑ์ จนเกิดเป็นไอเดียและมีความสนใจในเรื่องดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาข้อมูล วิเคราะห์ตลาดและพบว่ามะขามป้อมเป็นผลไม้ที่มีความน่าสนใจและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น รวมถึงมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย อาทิ มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระอย่างวิตามินซีสูงมากช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง และสามารถใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคได้เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดที่ประโยชน์ต่อร่างกาย ทางกลุ่มเล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ที่สำคัญจึงจัดตั้งโครงการ มะขามป้อมพันปี ดีเกินร้อย ที่เป็นการนำผลผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาต่อยอดและแปรรูปสร้างเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าโดยโครงการฯ จะเริ่มตั้งแต่การเพาะปลูกเอง เนื่องจากการปลูกมะขามป้อมใช้ต้นทุนน้อยและปลูกได้ง่าย เป็นต้นไม้ที่ทนแดด ทนฝน รวมถึงใช้น้ำน้อยในการเพาะปลูกทำให้เหมาะแก่การปลูกในพื้นที่ภาคอีสานเราได้นำเอาองค์ความรู้ที่มีมาผนวกกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ คิดค้นต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จะเพิ่มรายได้และส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกได้ โดยเริ่มจากการแปรรูปมะขามป้อม เป็น น้ำมะขามป้อม บ๊วยมะขามป้อม มะขามป้อมสด และมะขามป้อมแช่อิ่ม และนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าหรือตลาดชุมชน
นางสาวจิราทิตย์กล่าวการจัดทำโครงการฯ นอกจากจะส่งเสริมอาชีพให้กับสมาชิกแล้ว ยังช่วยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วม พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะปรับตัวและคิดพัฒนาต่อยอดสินค้าให้มีคุณภาพเหนือสิ่งอื่นใด คือ คนในชุมชนสามารถนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ โดยเริ่มจากตนเอง พึ่งพาตนเอง และเป็นต้นแบบเผยแพร่ไปสู่ผู้อื่น เพื่อการเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เพราะหากไม่มีหลักคิดเหล่านี้ จะไม่สามารถทำให้ ‘มะขามป้อม’ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณและมูลค่าได้เช่นนี้
นี่คือตัวอย่างโครงการที่ได้รับทุนหมุนเวียนพลังปัญญาที่สะท้อนมุมมองและแนวคิดของการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้กับการพัฒนาชุมชน เพื่อการสร้างความสมดุลที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น