ฮือฮา พระครูเจ้าคณะนครพนม นำตะเคียนยักษ์ 2,000 ปี แกะสลักแฝงปริศนาธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มกราคม ได้เกิดข่าวฮือฮา เป็นที่สนใจของประชาชนและนักท่องเที่ยว ภายหลังจากพระครูปิยคามเขตคณาภิรักษ์(ดร.) (จอ.ชพ.) หรือพระอาจารย์จินดา อายุ 45 ปี เจ้าคณะอำเภอบ้านแพง จ.นครพนม เจ้าอาวาสวัดปทุมมาราม บ้านนาเข หมู่ 1 ต.นาเข อ.บ้านแพง จ.นครพนม ได้มีไอเดียนำต้นไม้ตะเคียนทองยักษ์ อายุราว 2,000 ปี ขนาดความยาวประมาณ 20 เมตร เส้นรอบวงโคนต้น ประมาณ 5 เมตร ซึ่งเป็นไม้ตามความเชื่อว่า มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทวดาอารักษ์ปกปักรักษา รวมถึงมีนางตะเคียนสิงสถิตย์ มาเก็บรักษาไว้ภายในวัด พร้อมออกแบบจากแนวความคิด ให้ช่างแกะสลักไม้มาแกะสลักเป็นภาพนูนสูง ตลอดลำต้นไม้ตะเคียนยักษ์
โดยประกอบด้วย รูปพระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน 2 ด้าน รวมไปถึงภาพพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการออกผนวช แสดงธรรมเทศนาโปรดมนุษย์ ผสมผสานกับภาพสัตว์ในวรรณคดี รวมถึงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ไปจนถึงการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ สอดแทรกด้วยภาพสัจธรรมของชีวิต ที่ปัจจุบันกำลังยึดติดกับเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้า ที่จะเป็นสื่อให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้มากราบไหว้ เพราะยังเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของต้นตะเคียน ควบคู่กับการชื่นชมลวดลายแกะสลัก แฝงสั่งสอนด้วยปริศนาธรรมในตัว
ที่สำคัญยังเป็นการสร้างจิตสำนักให้คนเห็นความสำคัญของพระพุทธศาสนา เนื่องจากปัจจุบันคนในสังคมกำลังหลงอยู่กับอบายมุข โดยในการแกะสลักจะเน้นให้มีความสวยงามแบบธรรมชาติ และลงตัวกับสภาพของต้นตะเคียนทองยักษ์ให้มากที่สุด ซึ่งจะมีการแกะสลักแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านที่มีการลงสีสันความสวยงาม อีกด้านจะเน้นความเป็นธรรมชาติของไม้ตะเคียนให้มากที่สุด สื่อถึงสัจธรรมของชีวิต เมื่อเกิดมาแล้ว สุดท้ายไม่มีอะไร นอกจากความดี
โดยจากการสอบถาม พระสุเทพ ธรรมวโร อายุ 39 ปี พระลูกวัดที่ดูแลวัด เล่าถึงที่มาของต้นตะเคียนยักษ์ว่า เดิม พระครูปิยคามเขตคณาภิรักษ์ หรือพระอาจารย์จินดา ซึ่งเป็นพระที่มีความรู้ความสามารถ ชาวบ้านศรัทธาเคารพนับถือ อุปสมบทศึกษาเล่าเรียน มานานกว่า 26 พรรษา จนได้รับตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอบ้านแพง จ.นครพนม ก่อนได้มาพัฒนาดูแลวัดแห่งนี้ ที่เป็นบ้านเกิด ต่อจากเจ้าอาวาสองค์เดิม จนกระทั่งมีความตั้งใจว่าจะสร้างอุโบสถ แต่ต้องการทำด้วยไม้ เพื่อให้เกิดความสวยงาม หาดูได้ยาก ให้ประชาชน นักท่องเที่ยวมาเที่ยวชม กราบไหว้ทำบุญ
และเป็นที่มาของการเกิดนิมิต มีผู้หญิงคนหนึ่งมาบอกว่า ต้องการที่จะมาอยู่อาศัยในวัด ช่วยพัฒนาวัดทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ต่อมาไม่นานได้เกิดความบังเอิญ ได้มีชาวบ้านมาบอกว่า มีคนพบไม้ตะเคียนขนาดใหญ่ ที่ห้วยบางทราย จ.มุกดาหาร เมื่อปี 2554 จึงเกิดความแปลกใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นตามนิมิต และมีความคิดว่าจะไปดูและอยากได้ไม้ตะเคียนต้นดังกล่าวมาไว้ที่วัด เพราะเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในนิมิต แต่หลังจากการไปดูแล้วพบว่าไม้มีขนาดใหญ่มาก ความยาวประมาณ 20 เมตร ขนาดความกว้างรอบลำต้นประมาณ 5 เมตร เชื่อว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี จึงได้พยามขอรับสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธา เคลื่อนย้ายไม้ตะเคียนยักษ์ต้นนี้มาไว้ที่วัด ซึ่งต้องมีการผ่านกระบวนการทางกฎหมายหลายขั้นตอน ถึงนำมาไว้ที่วัดได้
ภายหลังทางพระครูเจ้าอาวาส จึงได้เกิดความคิดว่าการนำไม้ตะเคียนมาไว้ที่วัดเพียงอย่างเดียวคงไม่เกิดจุดสนใจ จึงเกิดความคิดที่จะทำการแกะสลักไม้ตะเคียน เพื่อให้เกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น จึงได้หารือกับช่างแกสลักมาลงมือแกะสลัก โดยเป็นคนออกแบบด้วยตนเอง ให้ช่างลงมือแกะสลัก เนื่องจากมีความรู้พื้นฐาน และชอบศึกษาเกี่ยวกับงานศิลปะมาอยู่แล้ว ซึ่งได้กำหนดแกะสลักให้ต้นตะเคียนเป็นรูป พระพุทธเจ้าปางปรินิพพาน 2 ด้าน รวมไปถึงภาพพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในการออกผนวช แสดงธรรมเทศนาโปรดมนุษย์ ผสมผสานกับภาพสัตว์ในวรรณคดี รวมถึงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา ไปจนถึงการเวียนว่ายตายเกิดของมนุษย์ สอดแทรกด้วยภาพสัจธรรมของชีวิต
ด้านหนึ่งจะมีการลงสีให้สวยงาม ส่วนอีกด้านจะคงเป็นสภาพเดิมให้เห็นลักษณะความสวยงามของเนื้อไม้ และแก่นแท้ของไม้ตะเคียน สื่อความหมายระหว่างความสำคัญของพระพุทธศาสนา กับสังคมยุคปัจจุบัน ให้ประชาชนที่ได้มาเยี่ยมชมเกิดความคิด มีความหมายในตัว แฝงด้วยปริศนาธรรม
โดยเป้าหมายที่แกะสลักภาพลงบนไม้ตะเคียนต้นนี้ ต้องการที่จะสร้างจุดสนใจให้กับผู้ที่มาพบเห็นได้สำนึกในหลักธรรมคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเข้าใจถึงสัจธรรมของชีวิต ที่จะนำไปปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน ให้มีความสงบสุข และช่วยกันทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ภายใต้ความขลังของไม้ตะเคียนทอง ที่เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงได้มากราบไหว้บูชาเป็นสิริมงคลตามความเชื่อ นอกจากนี้ยังจะได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศาสนาที่สำคัญของ จ.นครพนม ต่อไปอนาคต จึงขอเชิญชวนญาติโยม ได้เดินทางมาเที่ยวชม กราบไหว้บูชา เป็นสิริมงคล
ที่มา : มติชน
แสดงความคิดเห็น