“กรมส่งเสริมการเกษตร” พาสื่อบุกพิสูจน์ผลดำเนินงาน “ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร” (ศพก.) ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงลดต้นทุน-เพิ่มผลผลิตสวนปาล์ม พร้อมดูงานส่งเสริมการเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การแปรรูป และเพิ่มช่องทางการตลาด ผ่านความสำเร็จการผลิตกาแฟขี้ชะมดของเกษตรกร “Young Smart Farmer” รวมทั้งการเปิดตลาดเกษตรกร การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรบนเกาะลันตา และการสนับสนุนกลุ่มแม่บ้าน “ทุ่งหยี่เพ็ง” ผลิตกะปิสร้างรายได้ปีละนับล้านบาท
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร มีพันธกิจที่สำคัญ คือ การส่งเสริมพัฒนาเกษตรกร ครอบครัวเกษตรกร องค์กรเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีขีดความสามารถในการผลิตและการจัดการสินค้าเกษตรตามความต้องการของตลาด ซึ่งจังหวัดกระบี่ เป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการดำเนินงาน เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในระดับโลกแล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจของประเทศ เช่น ยางพารา และปาล์มน้ำมัน โดยที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการเกษตร ได้เข้าไปดำเนินกิจกรรมพัฒนาเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกรผ่านโครงการต่างๆ อย่างหลากหลาย และมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมัน การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการตลาด การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และการดำเนินงานศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องเกษตรกร และให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อการดำเนินงาน รวมทั้งเป็นการเผยแพร่กิจกรรมของเกษตรกรในพื้นที่ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้จัดนำสื่อมวลชนศึกษาและดูงานใน พื้นที่จังหวัดกระบี่ ในระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2559 โดยมีจุดศึกษาดูงาน ที่สำคัญดังนี้
ศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ปาล์มน้ำมัน ตำบลทุ่งไทรทอง อำเภอลำทับ เริ่มจัดตั้งเมื่อปี 2557 โดยมี นายสมหวิง หนูศิริ เป็นเกษตรกรต้นแบบให้กับชุมชน โดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ในการจัดสวนปาล์มน้ำมัน ทำการเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกปาล์มเป็นพืชหลัก พร้อมกับปลูกพืชแซม เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ ภายใต้เป้าหมายและแนวทาง คือ ลดต้นทุนปาล์มน้ำมันจาก 3.2 บาท/กก. เหลือ 2.8 บาท/กก. และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ได้ปาล์มน้ำมันจากเดิม 3.2 ตัน/ไร่/ปี เป็น 3.5 ตัน/ไร่/ปี พร้อมทั้งสามารถสร้างรายได้เสริมจากสวนปาล์มน้ำมันไปพร้อมๆ กัน
ศึกษาดูงานการผลิตกาแฟขี้ชะมด ตำบลดินแดง อำเภอลำทับ ซึ่งเป็นศูนย์เครือข่ายของ ศพก.ตำบลทุ่งไทรทอง ดำเนินการโดย นายพิศิษฐ์ เป็ดทอง เกษตรกรสมาชิกโครงการ Young Smart Farmer ของกรมส่งเสริมการเกษตร ซึ่งทำการผลิตกาแฟขี้ชะมดเพื่อลดความเสี่ยงจาการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว โดยเลี้ยงชะมดในโรงเรือน 33 ตัว ปลูกกาแฟ ในพื้นที่ 15 ไร่ นำมาให้ชะมดกินเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตกาแฟ จนเป็นที่มาของการผลิตกาแฟขี้ชะมดส่งขายตามโรงแรมและแหล่งท่องเที่ยวได้ราคาสูงถึงกิโลกรัมละ 20,000 บาท
เยี่ยมชมการดำเนินงานตลาดเกษตรกร จังหวัดกระบี่ ซึ่งเป็นตลาดเกษตรกรที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากที่ผ่านมาจังหวัดกระบี่ ยังไม่มีตลาดกลางสินค้าเกษตรที่จะเป็นแหล่งรวบรวมหรือให้เกษตรกรมาจำหน่ายผลผลิตได้โดยตรง โดยใช้พื้นที่ประมาณ 2 ไร่ บริเวณอาคารศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมืองกระบี่ ดำเนินการเปิดตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 จำหน่ายสินค้าทุกวันจันทร์ เวลา 14.00 – 20.30 น. ซึ่งสามารถตอบโจทย์งานด้านการส่งเสริมการเกษตรได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การกระตุ้นให้เกษตรกรผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพ และการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้า โดยเฉพาะการมีตลาดรองรับการปลูกพืชร่วมพืชแซมในสวนยางพาราและปาล์มน้ำมัน ตามโครงการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการช่วยเหลือตามมาตรการภัยแล้ง
เดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวการเกษตร ชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง บนเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งมีการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนมายาวนาน มีกิจกรรมท่องเที่ยว นั่งเรือแจวพื้นบ้าน พายเรือคายัค นั่งเรือหางยาว การจัดการป่าชุมชน หญ้าทะเล เพาะพันธุ์ปูไข่ พร้อมกับเข้าชมเมืองเก่าเกาะลันตา ซึ่งในอดีตเป็นสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอและส่วนราชการ รวมทั้งตลาดเก่า“ศรี รายา” ซึ่งเป็นตลาดท่องเที่ยวแนวย้อนยุคที่ชุมชนร่วมกันจัดการ
ศึกษาดูงานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรทุ่งหยี่เพ็งร่วมใจ ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำกะปิจากกุ้งเคย โดยเจ้าพนักงานเคหกิจเกษตรเข้ามาสนับสนุนจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรตั้งแต่ปี 2540 และเป็นกลุ่มแรกในภาคใต้ที่ได้รับการรับรองเครื่องหมาย อย. รวมทั้งยังได้รับการรับรองเครื่องหมายฮาลาล ปัจจุบันมีเครือข่ายร้านค้าที่รับกะปิไปจำหน่ายถึง 150 ร้าน โดยยอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2558 ยอดผลิต 26,425 ก.ก. มูลค่า 2,906,750 บาท ส่วนปี 2559 ตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม มียอดผลิตแล้วกว่า 16,247 ก.ก. มูลค่า 1,787,170 บาท
“การศึกษาดูงานครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการดำเนินงานด้านการส่งเสริมการเกษตรแบบครบวงจร ตั้งแต่การผลิตในแปลงเกษตรกร ไปสู่การแปรรูปสินค้า การสนับสนุนอาชีพ การสร้างช่องทางการตลาด รวมทั้งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวการเกษตรให้เป็นแหล่งรายได้อีกทาง ซึ่งไม่ได้มีเพียงที่ จังหวัดกระบี่ แห่งเดียวเท่านั้น แต่มีการดำเนินการในทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือ การทำให้เกษตรกรและครอบครัวเกิดเกิดความมั่นคงทั้งทางด้านอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว
ที่มา : บางกอกทูเดย์
แสดงความคิดเห็น