ผ้าพื้นเมืองและเครื่องประดับ

วัดศรีบุญเรือง จังหวัดมุกดาหาร (สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิงห์สอง)


วัดศรีบุญเรือง จังหวัดมุกดาหาร (สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสิงห์สอง)

จากบทความที่แล้วกระผม "มองเมืองมุก" ได้พูดถึง แหล่งทองเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยเริ่มบทความแรกที่ "วัดมงคลจินดาราม หรือ วัดห้วยแข้" ซึ่งเป็นวัดในเขตเมืองมุกดาหารติดริมฝั่งแม่น้ำโขง วันนี้ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับวัดที่อยู่ไม่ห่างไกลกับวัดมงคลจินดารามมาฝาก เป็นวัดที่คนมุกดาหารรู้จักชื่อกันดีมีประวัติความเป็นมาพร้อม ๆ กับการตั้งเมืองมุกดาหารในสมัยโบราณกาล วัดนี้มีชื่อว่า "วัดศรีบุญเรือง"


ประวัติความเป็นมาของวัดศรีบุญเรือง

วัดศรีบุญเรือง ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 บ้านศรีบุญเรือง ตำบลศรีบุญเรือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร แต่เดิมนั้นมีเนื้อที่ตั้งวัดจำนวน 5 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ที่ดินด้านทิศตะวันออกจดริมแม่น้ำโขง ทิศใต้จดกับหมู่บ้านศรีบุเรือง ทิศตะวันตกติดกับทุ่งนาชึ่งเป็นที่ของนายเลาและที่ของนายใหม่ ทิศเหนือจดหมู่บ้านศรีบุญเรืองเหนือ

ระยะต่อมา บ้านเมืองได้เปลี่ยนแปลงไป คือเมื่อปี พ.ศ. 2490 ทางราชการได้ดำเนินการตัดถนนสำราญชายโขงผ่านที่ดินของวัดศรีบุญเรือง ที่ดินแห่งนี้เลยถูกแบ่งออกเป็นสองแปลง คือแปลงที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขงในขณะนี้ เป็นที่ธรณีสงฆ์ของวัด มีเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา และแปลงที่สองอยู่ทางทิศตะวันตก ของถนนสำราญชายโขง อันเป็นที่ตั้งวัดศรีบุญเรืองในปัจจุบัน มีเนื้อที่จำนวน 4 ไร่ 84 ตารางวา

วัดศรีบุญเรืองในปัจจุบัน

เมื่อปี พ.ศ. 2526 มีประชาชนคุ้มศรีบุญเรือง และพ่อค้าในตลาดมุกดาหาร มีศรัทธาบริจาคปัจจัยชื้อที่ดิน เพื่อขยายวัดให้กว้างขวางขึ้นอีก จำนวน 2 งาน 92 เศษ 4 ส่วน 10 ตารางวา เกี่ยวกับที่ดินที่เป็นธรณีของสงฆ์ นี้ ยังมีผู้มีจิตศรัทธาบริจาคอีก 1 แปลง คือที่ดินอยู่ใกล้ถนนสายมุกดาหาร-ดอนตาล อยู่ห่างจากที่ตั้งศาลากลาง จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 1.5 กิโลเมตร สะดวกต่อการเดินทางของพุทธศาสนิกชน สภาพในปัจจุบันวัดศรีบุญเรืองอยู่ในระหว่างพัฒนา ปรับปรุงและแก้ไข ทั้งทางวัตถุภายนอก และทางด้านจิตใจของประชาชน

การสร้างและการบูรณะวัด

การสร้างและการบูรณะวัด จากหลักฐานของคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมา และเอกสารพอเชื่อถือได้ กล่าวไว้ว่า "วัดศรีบุญเรือง" เป็นวัดที่ชาวบ้านสร้างขึ้นมาในยุคเดียวกับการสร้างเมืองมุกดาหาร ( ประมาณ พ.ศ.2310 - 2317) เพื่อให้พระธุดงค์ออกจาริกแสวงบุญได้พักอาศัย ในสมัยนั้นพระสงฆ์มีจำนวนน้อย จึงไม่ค่อยจะมีผู้อยู่อาศัยเป็นประจำ วัดแห่งนี้จึงเป็นที่พักอาศัยของพระธุดงค์มาโดยตลอด แม้แต่ชื่อก็ยังไม่สามารถจะทราบได้

ครั้งต่อมา (ประมาณ พ.ศ. 2318) พระยาจันทร์ศรีอุปราชา (เจ้ากินรี) ซึ่งเป็นผู้สร้างและเป็นเจ้าเมืองคนแรกของเมืองมุกดาหาร ได้ชักนำบรรดาเจ้านาย ข้าราชการ และชาวบ้านร่วมกันบูรณะวัด ให้เหมาะสมที่จะเป็นที่พักอาศัยของพระสงฆ์ต่อไป และได้ร่วมกันสร้างอุโบสถพุทธสีมาขึ้นทางด้านหน้าของวัด และเมื่ออุโบสถพุทธสีมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ตั้งชื่อวัดว่า "วัดศรีบุญเรือง" ถือได้ว่าวัดศรีบุญเรืองเป็นรูปแบบของวัดจริง ๆ ในสมัยที่เจ้ากินรีได้เข้ามาบูรณะและสร้างพระอุโบสถขึ้นนี้เอง

วัดศรีบุญเรืองในสมัยนั้นคือวัดท้ายเมือง หลังจากเจ้ากินรีสร้างวัดหัวเมืองแล้ว (วัดศรีมงคลใต้) ก็เห็นควรสร้างวัดท้ายเมือง (วัดศรีบุญเรือง) ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้กราบไหว้สักการะบูชาได้โดยทั่วถึง เป็นที่น่าสังเกตุว่า อุโบสถที่เจ้ากินรีได้สร้างขึ้นนั้น หันหน้าไปทางทิศเหนือ (อุโบสถส่วนใหญ่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หรือทิศตะวันตก) ทั้งนี้คงเป็นเพราะว่าท่านอยากจะสร้างอุโบสถแห่งนี้ไว้เป็นอนุสรณ์สำหรับตัวท่านเอง เพราะท่านเจ้ากินรีเป็นชาวเหนือเชื้อเจ้า ท่านได้พลัดพรากจากบ้านเกิดเมืองนอนมาด้วยความจำเป็น จึงได้สร้างอุโบสถหันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าถึงแม้ท่านจะจากบ้านเกิดเมืองนอนมาท่านก็ยังมีความอาลัยอาวรณ์อยู่

หลังจากสร้างอุโบสถพุทธสีมาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้ให้ชาวบ้านศรีบุญเรืองจัดขบวนดอกไม้ธูปเทียน ไปอัญเชิญ "พระพุทธสิงห์สอง" จากวัดศรีมงคลใต้ มาประดิษฐานไว้ เป็นพระประธานในอุโบสถหลังนี้ ก็เนื่องจากว่าพระองค์พระพุทธรูปสิงห์สองนี้ เป็นพระพุทธรูปเมืองเหนือ ตัวท่านเองก็เป็นคนชาวเหนือ ได้อพยพลงมาในดินแดนที่อุดมสมบูรณ์ และท่านมีความเคารพพระพุทธรูปองค์นี้มาก จึงได้นำมาประดิษฐานไว้เป็นอนุสรณ์ในอุโบสถที่ท่านได้สร้างขึ้นมา

ตามฝาผนังโบสถ์จะเป็นภาพวาดด้วยสีสรรที่งดงามมาก ด้านในเป็นภาพเกี่ยวกับพระพุทธประวัติ ด้านนอกเป็นภาพเกี่ยวกับนรก สวรรค์ ซึ่งศิลปกรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นประณีตศิลปที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่า อุโบสถดังกล่าวได้ปรักหักพังลงแล้วเพราะความเก่าแก่นั่นเอง ปัจจุบันเราจึงไม่ได้เห็นภาพอันวิจิตรงดงามนั้น สิ่งที่ปรากฏให้เห็นทุกวันนี้คือ ซากปรักหักพังและฐานอุโบสถเท่านั้น

ในปี พ.ศ.2500 ทางวัดพร้อมด้วยประชาชนผู้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาได้ร่วมสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ และสร้างเสร็จเรียบร้อยในปี พ.ศ. 2509 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ ปี พ.ศ.2513 และต่อมาได้มีการตัดต่อหลังคาใหม่ ดูสวยงามกว่าเก่ามาก

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า วัดศรีบุญเรืองมีพระพุทธรูปที่เก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ยิ่งองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ (หลังเก่า) คือ "พระพุทธสิงห์สอง" ท่านเจ้าเมืองคนแรก (เจ้ากินรี ) ของมุกดาหาร ชึ่งในขณะนั้นยังขึ้นต่อเมืองเวียงจันทร์ (ประมาณ พ.ศ.2310-2317) ได้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีบุญเรืองเมื่อคราวที่ท่านเจ้าเมือง (เจ้ากินรี มาบูรณะ และปฏิสังขรณ์เสร็จเรียนร้อยแล้ว ถึงแม้ว่าพระพุทธรูปสิงห์สองจะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไปก็ตาม แต่ชาวบ้านตำบลศรีบุญเรือง ชาวจังหวัดมุกดาหาร และประชาชนทั่วไปที่รู้จัก

และเคารพเลื่อมใสในพระพุทธสิงห์สองแล้ว ย่อมจะกล่าวเป็นเสียงเดี่ยวกันว่า พระพุทธสิงห์สอง เป็นพระพุทธรูปที่มีอภินิหารนานาประการ เป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธ์น่าอัศจรรย์ ท่านจะช่วยปกป้องผองภัยอันตรายต่าง ๆ ได้ เป็นอย่างดียิ่ง พระพุทธสิงห์สองเป็นพระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์ทรงมหิทธานุภาพเพียงใดนั้น ผู้ที่ไปนมัสการขอพรด้วยตนเองเท่านั้นย่อมจะรู้ดี คนอื่นนั้นไม่อาจบอกได้ถึง มีตัวอย่างเล่าให้ท่านทั้งหลายได้แนวความคิดดังนี้

ครั้งหนึ่งนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ท่านที่หนึ่งมาเยี่ยมคาระวะท่านอดีตเจ้าอาวาส (พระครูอุดมธรรมรักษ์) แล้วนมัสการพระพุทธรูปองค์นี้ ก็จำลักษณะได้ว่าเป็นพระพุทธรูปสิงห์สองแน่นอน จึงกล่าวได้ว่าพระพุทธรูปสิงห์สองแต่นั้นมา (ก่อนหน้านั้นเรียกว่าหลาวงพ่อเฉยๆ) และท่านยังได้กล่าวต่อไปอีกว่า ถ้าบูชาให้สีถูกต้องแล้วจะให้คุณหลายประการ โดยเฉพาะช่วยให้ฝนตกตามฤดูกาล

มีผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้เล่าถึงอภินิหารพระพุทธสิงห์สองว่า ท่านอดีตเจ้าอาวาส (พระครูอุดมธรรมรักษ์) ได้เล่าอภินิหารของพระพุทธสิงห์สองว่ามีผู้มาถ่ายรูปพระพุทธสิงห์สองแล้วนำฟิล์มไปล้างแล้วอัด ปรากฏว่าไม่มีรูปให้เห็น แม้จะถ่ายใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็ไม่เป็นผลเช่นกัน ทั้ง ๆ ที่มีแสงสว่างเพียงพอแต่ก็ถ่ายรูปพระพุทธสิงห์สองไม่สำเร็จภายหลังจากท่านเจ้าอาวาสสมัยปัจจุบันได้รับพระราชทานสรณศักดิ์เป็นครูสัญญาบัตรชั้นโทเป็น พระครูอุดมธรรมรักษ์ จึงทำได้สำเร็จ จึงนับว่าเป็นเรื่องแปลกและน่าคิดเป็นอย่างยิ่ง

พระพุทธสิงห์สอง พระพุทธรูปสมัยเชียงแสน ปัจจุบันทางวัดได้ถือเอาหลวงพ่อพุทธสิงห์ เป็นพระประธานและเป็นสัญญลักษณ์ของวัดตลอดมา ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านศรีบุญเรือง และชาวมุกดาหาร จะยึดเอาหลวงพ่อพุทธสิงห์สองนี้ เป็นหลักยึดเหนี่ยวทางจิตใจมาโดยตลอด

เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน

พระราชรัตนโมลี     เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร
ชาติภูมิ               :  พระราชรัตนโมลี  (สมยง กตปุญฺโญ ป.ธ  ๗  )
                 นามเดิม  สมยง  นามสกุล  หินผา
                   เกิดวันที่  ๒  แรม ๗ ค่ำ  เดือน  ๒  ปีชวด      ตรงกับวันที่  ๘  มกราคม  พ.ศ. ๒๕๐๓                                  นามบิดา  นายสัมฤทธิ์  นามมารดา  นาง เฉย นามสกุล  หินผา  ณ  บ้านเลขที่  ๑๑๗                                  หมู่ที่  ๑๑  ต. หนองขอน  อ.เมืองอุบลราชธานี  จ.อุบลราชธานี
อุปสมบท             : วันที่  ๒๑  มีนาคม  พ.ศ.  ๒๕๒๔
                 ณ  วัดทุ่งขุนใหญ่  ต.หนองขอน  อ. เมืองอุบลราชธานี  จ.อุบลราชธานี
                 พระอุปัชฌาย์     พระครูพิพัฒนคุณ  วัดทุ่งขุนใหญ่    ต.หนองขอน  อ. เมือง                                              จ.อุบลราชธานี
วิทยฐานะ              : น.ธ.  เอก,  ป.ธ.  ๗
สมณศักดิ์              : พ.ศ.  ๒๕๕๖     พระราชรัตนโมลี
ตำแหน่ง               :  พ.ศ.  ๒๕๔๔    เจ้าอาวาสวัดสว่างอารมณ์
                พ.ศ.  ๒๕๔๕    รองเจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง
                                พ.ศ.  ๒๕๔๖    รองเจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร
                พ.ศ.  ๒๕๔๗   เจ้าอาวาสวัดศรีบุญเรือง
                พ.ศ.  ๒๕๕๕    เจ้าคณะจังหวัดมุกดาหาร
สังกัด                  :  วัดศรีบุญเรือง  ต.ศรีบุญเรือง  อ.เมืองมุกดาหาร  จ.  มุกดาหาร   ๔๙๐๐๐
       โทร  ๐๔๒-๖๑๑-๕๘๔,  ๐๘๙-๒๘๕-๗๖๙๘




Street View วัดศรีบุญเรือง



ขอขอบคุณข้อมูล : พระมงคลชัย กิตติสมฺปนฺโน ไตรยวงศ์ วัดศรีบุญเรือง

เรียบเรียงและนำเสนอโดย : มองเมืองมุก... ทีมงาน www.travel2mukdahan.com


แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

Author Name

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.