"จันทบุรี"สุดบูมชูทะเล-ผลไม้เที่ยวได้ทั้งปี อานิสงส์ถนนเฉลิมบูรพาชลทิตเลียบชายฝั่ง
ท่องเที่ยวจันทบุรี 5 ปีโต 60% อานิสงส์การสร้างถนนเฉลิมบูรพาชลทิตเลียบฝั่งทะเลตะวันออก นโยบายเมืองต้องห้ามพลาด-อาหารทะเลคุ้มค่า ชูจุดขายเที่ยวทะเล โฮมสเตย์ สวนผลไม้ได้ตลอดปี เผยธุรกิจที่พักโซนชายหาดเนื้อหอม ทุนระยองผุดโรงแรมใหม่ ขณะที่แรงงานภาคบริการยังขาดแคลน วอนเร่งปรับปรุงน้ำ-ไฟฟ้ารับการลงทุนใหม่ ผุดโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์นำเงินพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวชุมชนจุดเปลี่ยนจุดพลุ เที่ยวจันท์นางสาวสี่รัก คุณประภากร นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า การท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรีเติบโตขึ้นมากกว่า 60% ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา และมีรายได้ภาคการท่องเที่ยวสูงกว่า 5,000-6,000 ล้านบาทต่อปี โดยในปี 2558 สถิตินักท่องเที่ยวของจันทบุรีอยู่ที่ 1.8 ล้านคน ส่วนใหญ่ยังเป็นนักท่องเที่ยวในประเทศที่ 1.79 ล้านคน
ขณะที่ต่างชาติยังมีน้อยประมาณ 7.8 หมื่นคน หรือ 5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนมากคือ ชาวกัมพูชา ช็อปปิ้งและชาวยุโรปซึ่งยังมีไม่มากนัก
สำหรับจุดเปลี่ยนที่ช่วยจุดพลุการท่องเที่ยวในจันทบุรี คือ การได้เป็นหนึ่งในเมืองต้องห้าม...พลาด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวจันทบุรีที่เป็นเมืองรองและเมืองผ่านมาก่อน และการตัดถนนเฉลิมบูรพาชลทิต ถนนเลียบชายฝั่งทะเลตะวันออกที่สวยงาม นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูปมากมาย และการมีอาหารทะเลที่สดอร่อยคุ้มค่า บวกกับพลังโซเชียลที่ทำให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้อานิสงส์จากการขยายตัวของด่านการค้าชายแดนบ้านแหลม ช่วยเพิ่มช่องทางการเข้ามาท่องเที่ยวในไทย และหากการก่อสร้างถนนเลียบชายแดนสาย 317 (สระแก้ว-จันทบุรี) ซึ่งเป็นถนนตัดผ่านหุบเขาที่มีความสวยงามอีกแห่งหนึ่งที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า จะส่งผลทำให้การเดินทางจากภาคอีสานมายังจันทบุรีสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
กินเที่ยวผลไม้/ซีฟู้ดได้ทั้งปี
นางสาวสี่รักเปิดเผยต่อไปว่าจังหวัดจันทบุรีมีจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจไม่ว่าจะเป็นชุมชนริมน้ำจันทบูรทะเลในอำเภอแหลมสิงห์และอำเภอขลุงสามารถผลักดันให้เป็นศูนย์กลางตลาดไมซ์ของภาคตะวันออกอีกแห่งหนึ่งได้รองจากพัทยา และมีซีฟู้ดบุฟเฟต์ที่สดอร่อยและคุ้มค่า ขณะที่โฮมสเตย์ที่บ้านทุ่งเพล อำเภอมะขาม ก็ได้รับความนิยมมากโดยเฉพาะในกลุ่มเจนวายที่ชื่นชอบธรรมชาติและการทำกิจกรรม ซึ่งสามารถผนวกการท่องเที่ยวร่วมกับภาคการเกษตรได้ เพราะสามารถปลูกผลไม้ได้หลากหลาย สามารถท่องเที่ยวตามสวนผลไม้ต่าง ๆ ได้ตลอดทั้งปี
"เราพยายามดึงนักท่องเที่ยวให้อยู่นานขึ้น จากเฉลี่ย 1 คืน เป็น 2 คืนในช่วงวันหยุด และเพิ่มกลุ่มไมซ์กับนักท่องเที่ยวต่างชาติในวันธรรมดา รวมทั้งเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัว ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,500 บาท ซึ่งตอนนี้ภาคการท่องเที่ยวของจันทบุรีขับเคลื่อนด้วยคนรุ่นใหม่แล้ว ทำให้มีความกระตือรือร้นและง่ายในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ"
โรงแรมแห่ผุดทำเลริมหาด
นางสาวสี่รักกล่าวว่า จากกระแสการท่องเที่ยวที่บูมขึ้นมาก ทำให้มีผู้ประกอบการที่พัก โรงแรมเข้ามาลงทุนในพื้นที่ นับเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วถึง 10-15% โดยที่พักในจังหวัดที่จดทะเบียนมีประมาณ 4,500 ห้อง ส่วนใหญ่ 60% อยู่ในอำเภอเมือง ส่วนอีก 40% อยู่ในโซนทะเล ซึ่งเป็นโซนที่มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จากอานิสงส์ของถนนเฉลิมบูรพาชลทิตและความนิยมของนักท่องเที่ยว เช่น บริเวณหาดเจ้าหลาว อ่าวคุ้งวิมาน แหลมเสด็จ มีโรงแรมขนาด 3-4 ดาวหลายแห่ง และยังเริ่มขยายตัวไปยังบริเวณตำบลบางกะไชย ตำบลปากน้ำแหลมสิงห์ อำเภอแหลมสิงห์ ขณะที่โฮมสเตย์ก็เกิดขึ้นจำนวนมากเช่นกัน
สี่รัก คุณประภากร
ขณะที่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีการลงทุนโรงแรมแซนด์ ดูนส์ เจ้าหลาว บีช รีสอร์ต ทุนจากจังหวัดระยอง ขนาดราว 200 ห้อง และเซนต์ โทรเปซ บีช รีสอร์ท หาดเจ้าหลาว และในโซนเมืองอย่างริมน้ำกลางจันท์ มีเชนคือ โรงแรมฮ็อป อินน์ ในเครือเอราวัณเข้ามาบ้าง ซึ่งการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาแสดงให้เห็นว่าจันทบุรีมีศักยภาพมากพอ และช่วยดึงดูดลูกค้าเข้ามาในพื้นที่ แต่สำหรับการลงทุนใหม่ ๆ เริ่มคงที่แล้ว ซึ่งหวังว่าจะไม่โตเร็วกว่านี้ เพราะโครงสร้างพื้นฐานจะรองรับไม่ทัน ปัจจุบันก็เจอปัญหาไฟฟ้าไม่พอใช้และดับบ่อย ๆ ในช่วงลองวีกเอนด์ และปัญหาน้ำประปาไม่เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่หาดเจ้าหลาว
ดังนั้นหากการลงทุนใหม่จะเข้ามาอีก ก็ต้องเร่งพัฒนาระบบน้ำ ไฟฟ้า รวมทั้งเร่งพัฒนาบุคลากรในภาคบริการที่ยังขาดแคลนอยู่จำนวนมาก แม้ว่าจะมีสถาบันการศึกษาในจันทบุรีที่พยายามเปิดหลักสูตรขึ้นมารองรับ แต่คนที่เข้าสู่ภาคบริการจริง ๆ ยังมีน้อย จึงต้องไปนำบุคลากรจากจังหวัดระยองเข้ามาแทน
หนุนแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
นางสาวสี่รักกล่าวว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้จดทะเบียนตั้งบริษัท Chantaburi CBT Travel บริษัททัวร์ในรูปแบบโซเชียลเอ็นเตอร์ไพรส์ (Social Enterprise หรือ SE) จะมีรูตการท่องเที่ยวที่เน้นเรื่องชุมชน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและคืนกำไรให้กับชุมชน นำเม็ดเงินที่ได้ไปพัฒนาชุมชนในด้านต่าง ๆ โดยจับกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก เช่น ชุมชนทำเหมืองพลอย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ
แสดงความคิดเห็น