รวมสถานที่จัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปีพุทธศักราช 2559 “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ทั้งในจังหวัดกรุงเทพมหานครและตามจุดจัดงานสำคัญๆ ใหญ่ๆตามต่างจังหวัดทั่วประเทศ..
1. สงกรานต์กรุงเทพ
วันที่จัดงาน : วันที่ 12 - 15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณต่างๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
1.1 ประเพณีสงกรานต์วิสุทธิกษัตริย์
เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2478 ซึ่งถือเป็น “สงกรานต์แห่งตำนาน งามตระการคู่พระนคร”ที่เกิดจากความร่วมมือของประชาชนในชุมชน และเป็นงานสงกรานต์ในตำนานที่เป็นต้นแบบของการประกวดเทพีสงกรานต์ ซึ่งมีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 70ปี
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณถนนวิสุทธิกษัตริย์ (สี่แยกบางขุนพรหม) ใต้สะพานพระราม 8
สอบถามเพิ่มเติม : ประธานประชาคมชาววิสุทธิกษัตริย์ โทร. 08 6345 5836, สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0 2628 9068
1.2 ประเพณีสงกรานต์บางลำพู
เป็นการอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ให้ดำรงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป ภายในงานมีพิธีอัญเชิญพระพุทธบางลำพูประชานาถจากวัดบวรนิเวศวรวิหาร มาประดิษฐาน ณ สวนสันติชัยปราการ เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ เพื่อความเป็นสิริมงคล เจริญพระพุทธมนต์ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ พิธีรดน้ำอวยพรผู้สูงอายุและการแสดงนาฏศิลป์
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณสวนสันติชัยปราการ ถนนพระอาทิตย์ กรุงเทพฯ
สอบถามเพิ่มเติม : สำนักงานเขตพระนคร โทร. 0 2628 9068
1.3 งานเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ : มหัศจรรย์ มรดกจารึก 3 แผ่นดิน
วันที่ 10 เมษายน 2559 ตั้งแต่เวลา 15.00 – 18.00 น. ขบวนเคลื่อนจากลานพลับพลาเจษฎามหาบดินทร์ – ถนนราชดำเนินกลาง – ถนนราชดำเนินใน – ถนนหน้าพระลาน – ถนนมหาราช – สวนนาคราภิรมย์ เป็นเรื่องราวของ มหัศจรรย์มรดกจารึก ๓ แผ่นดินขบวนเล่าขานตำนานจารึกสงกรานต์ มรดกโลกเรื่องราวตำนานธรรมบาลกับนางสงกรานต์ทั้ง ๗ ที่ถูกจารึกบนแผ่นดินไทย ร่วมกันสืบสานงานประเพณีที่ดีสืบทอดให้ตราไว้ชั่วลูกชั่วหลาน แบ่งระยะการนำเสนอออกเป็น ๓ ขบวน
จารึกริเริ่ม รัชสมัยที่ ๓ : ศิลาจารึกมรดกโลก
จารึกแผ่นดิน รัชสมัยที่ ๕ : ๑๓ เมษาสงกรานต์ไทย
จารึกเพื่อนบ้าน รัชสมัยที่ ๗ : สงกรานต์เพื่อนบ้าน
ขบวนรถเชิญตราสัญลักษณ์นำเอาศิลจารึกที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ให้จารึกวรรณกรรมตำนานสงกรานต์ไว้ที่ผนังกำแพงในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) โดยนำขบวนนักแสดงพร้อมเหล่าสัตว์หิมพานต์เดินมา
พร้อมกับธรรมบาล และนางสงกรานต์ทั้ง ๗ ถือได้ว่าเป็นการจำลองเรื่องราวตำนานออกมาในรูปแบบการแสดง และครั้งแรกที่จะได้พบกับการยกม่านน้ำมาไว้กลางกรุงบนถนนราชดำเนิน ในชุดการแสดง “จารึกศักราช มหาสงกรานต์ มรดกวิถีไทย” และตามมาด้วยขบวนที่เข้าถึงรัชสมัย ชาวไทยจะได้ทัศนามหาสงกรานต์วิถีไทย ทั้งแผ่นดิน ขบวนสงกรานต์วิถีชนชาติไทยใจบุญทั้ง ๕ ภาค เรื่องราวที่ชาวไทยทุกคนจะได้ออกมาศักการะและทำบุญ ในรอบบุญปีใหม่ ประกอบด้วย
ภาคเหนือ สลุงหลวง จังหวัดลำปาง
ภาคอีสาน ต้นดอกไม้ จังหวัดเลย
ภาคกลาง สงกรานต์ไทยมอญ จังหวัดราชบุรี
ภาคตะวันออก ศรีมหาราชาและกองข้าว จังหวัดชลบุรี
ภาคใต้ นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช
และจบด้วยขบวนความสัมพันธ์สองแผ่นดินของสองฝั่งโขงระหว่างไทยกับลาว นำเสนอความสัมพันธ์ของพระธาตุ สองแผ่นดินที่เชื่อมโยงระหว่างพระธาตุพี่น้อง พระธาตุพระพนม จังหวัดนครพนม ที่เชื่อมความสัมพันธ์ด้วยสายสิญจน์ ไปยังพระธาตุศรีโครตบอง ประเทศลาว นับเป็นการเปิดตัวเทศกาลเย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ ประจำปี 2559 โดยระหว่างการเคลื่อนขบวนจะมีการแสดงเบิกโรงประจำจุดการแสดงเวทีหน้าลานพลับพลาเจษฎาบดินทร์ และเวทีหน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นอกจากนี้ ยังมีการจำลองตลาดโบราณ และการละเล่น การแสดงมหรสพ ที่หาชมได้ยาก ได้แก่ ละครนอก หุ่นหลวง ในบริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) ในวันที่ 10-12 เมษายน 2559 ตั้งแต่เวลา 10.30-20.30 น.
สถานที่จัดงาน : ณ ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ – ถนนราชดำเนินกลาง –ถนนราชดำเนินใน – ถนนหน้าพระลาน –ถนนมหาราช – สวนนาคราภิรมย์
สอบถามเพิ่มเติม : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย 0 2250 5500 ต่อ 3470-3 หรือเบอร์เดียวเที่ยว ทั่วไทย 1672
2. สงกรานต์ จังหวัดสมุทรปราการ
2.1 สงกรานต์พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
วันที่ : 22 - 24 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ
ประเพณีสงกรานต์พระประแดง หรือเดิมเรียกว่า “สงกรานต์ปากลัด” เป็นรูปแบบสงกรานต์ที่คงรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ - ไทยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณเอกลักษณ์ของสงกรานต์พระประแดงโดยเฉพาะในวันท้ายของสงกรานต์ (ถัดจากวันที่ 13 เมษายนอีกหนึ่งอาทิตย์) ทุกหมู่บ้านจะรวมใจกันจัดขบวนแห่ที่มีความยิ่งใหญ่และความสวยงามตระการตาของขบวนแห่นางสงกรานต์ ขบวนรถบุปผาชาติ ขบวนสาวรามัญ - หนุ่มลอยชาย ที่ยังคงรักษาประเพณีเก่าๆไว้อย่างมั่นคงตลอดถึงเอกลักษณ์การแต่งกายด้วยชุดไทยรามัญ และชุดลอยชาย เพื่อแห่นก - แห่ปลาไปทำพิธีปล่อยนก - ปล่อยปลา ณ พระอารามหลวงวัดโปรดเกศเชษฐาราม ซึ่งถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ทำให้อายุยืนยาว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีแล้วระหว่างเดินทางกลับบ้านก็จะมีหนุ่มในหมู่บ้านต่าง ๆ ออกมาเล่นสาดน้ำกับสาว ๆ ด้วยกิริยาท่าทีที่สุภาพรดแต่พองาม ซึ่งท่านผู้สนใจควรจะได้ไปชมด้วยตนเองซึ่งชาวพระประแดงได้รักษาประเพณีไว้โดยเคร่งครัดตลอดมา จนถึงทุกวันนี้
กิจกรรมหลัก
- ชมการประกวดนางสงกรานต์พระประแดงและหนุ่มลอยชาย
- ขบวนแห่นก- แห่ปลา
- ชมขบวนแห่นางสงกรานต์และขบวนรถบุปผชาติ
- การละเล่นพื้นบ้านตามวัฒนธรรมชาวรามัญแต่ดั้งเดิม (การละเล่นสะบ้า)
- ประเพณีการกวนกาละแม (กวันฮะกอ)
สอบถามเพิ่มเติม เทศบาลเมืองพระประแดง โทร. 0 2463 4841 ,ททท. สำนักงาน. กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2276 2720 – 21
3. เทศกาลวันสงกรานต์ ชุมชนมอญสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
วันที่ : 12 - 17 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ วัดวังก์วิเวการาม และลานหน้าเจดีย์พุทธคยา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี
"สะพานแห่งศรัทธา พระเดินบนหลังคน สงกรานต์สังขละบุรี" สัมผัสกับประเพณีสงกรานต์อันงดงามของชาวมอญ ในช่วงเช้ามีการทำบุญใส่บาตร โดยจะเห็นภาพชาวมอญที่เดินทูนถาดอาหารไว้บนศีรษะเพื่อนำไปถวายพระช่วงเย็นชมการขนน้ำไปอาบน้ำให้พ่อแม่ และผู้สูงอายุที่ไปถือศีลอยู่ประจำที่วัด และการขนทรายใส่ถุง หรือภาชนะเทินไปบนศีรษะ เพื่อนำไปก่อพระเจดีย์ทรายที่ลานหน้าเจดีย์พุทธคยา โดยในวันสรงน้ำพระ (ปี 2559 ตรงกับวันที่ 17 เม.ย.) ชมการสรงน้ำพระตามแบบประเพณีของชาวมอญ ซึ่งเป็นการสรงน้ำผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ที่นำมามัดรวมต่อ ๆ กัน เมื่อถึงเวลาสรงน้ำพระในพิธีชาวบ้านผู้ชายจะพร้อมใจกันนอนเรียงต่อ ๆ กันเป็นสะพานมนุษย์ เพื่อให้พระเถระเดินย่ำไปบนหลังจนถึงบริเวณที่นั่งสรงน้ำ และหลังจากสรงน้ำเสร็จ ชาวบ้านผู้ชายก็จะช่วยกันอุ้มพระไปส่งที่บันได สำหรับในช่วงเช้าวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ยังมีพิธีแห่กองผ้าป่า และพิธียกฉัตรเจดีย์ทราย ความยาวนับกิโลเมตร ที่น่าตื่นตาตื่นใจให้ชมอีกด้วย
กิจกรรมหลัก
- ศึกษาความเชื่อเรื่องพิธีหม้อมงคล, การเข้าวัดถือศีล, อาบน้ำพ่อแม่ผู้สูงอายุยามเย็น ที่วัด และการขนทรายไปร่วมก่อเจดีย์ของชาวมอญ (วันที่ 17 เมษายน 2559 ตั้งแต่วันที่ 09.00 น.)
- พิธีสรงน้ำพระ ผ่านรางกระบอกไม้ไผ่ ชมขบวนพระสงฆ์เดินเหยียบไปบนหลังคน (วันที่ 16 เมษายน 2559 ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป)
- พิธีแห่กองผ้าป่า ยกฉัตรเจดีย์ทรายและทำบุญกรวดน้ำ (วันที่ 17 เมษายน 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00 น.)
สอบถามเพิ่มเติม ปลัดมานพ เทศบาลตำบลวังกะ โทร. 08 1010 7234 คุณอรัญญา เจริญหงษ์ษา โทร. 08 9092 5140, 08 9514 2398 เทศบาลตำบลวังกะ โทร. 0 3459 5093 ททท. สำนักงานกาญจนบุรี โทร. 0 3451 1200, 0 3451 2500
4. สงกรานต์สุโขทัย เที่ยวได้ครึ่งเดือน จังหวัดสุโขทัย
งานประเพณีแห่ช้างบวชนาคไทยพวน บ้านหาดเสี้ยว
วันที่ : 7 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ วัดหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
งานประเพณีสรงน้ำโอยทาน สงกรานต์ศรีสัชนาลัย
วันที่ : 8-12 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
งานสงกรานต์มหามงคล น้ำมนต์ทะเลหลวง ประจำปี 2559
วันที่ : 9-11 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ ทุ่งทะเลหลวง อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย
งานประเพณีสงกรานต์ และ เทศกาลอาหารเมืองสวรรคโลก
วันที่ : 11-15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ เวทีการแสดงกลางแม่น้ำยม หน้าวัดสว่างอารมณ์วรวิหาร อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย
งานย้อนอดีตมหาสงกรานต์ กรุงสุโขทัย ประจำปี 2559
วันที่ : 12-14 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
งานประเพณีสงกรานต์เสื้อลายดอก ถนนข้าวตอกสุโขทัย
วันที่ : 12-15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณเมืองสุโขทัยและสวนสาธารณสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย
งานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮง สรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง
วันที่ : 17-19 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณอนุสาวรีย์เจ้าหมื่นด้ง ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
สอบถามเพิ่มเติม : ททท. สำนักงานสุโขทัย โทร. 0 551 6228 - 9
5. งาน “2559 สมโภช 60 รอบนักษัตร 720 ปี เมืองเชียงใหม่” และ “งานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง ประจำปี 2559”
วันที่ : 12 - 16 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณทั่วเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณีปี๋ใหม่เมือง หรือ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง วันสงกรานต์ล้านนาในภาคเหนือ หรือที่เรียกว่า"ประเพณี ปี๋ใหม่เมืองหรือ ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" เริ่มโดยในวันที่ 13 เมษายน เรียกว่า"วันสังขานต์ล่อง"วันนี้ถือเป็นวันสิ้นสุดศักราชเก่าของชาวภาคเหนือซึ่งจะมีการจุดประทัดในช่วงเช้า เพราะมีความเชื่อแต่โบราณว่าเป็นการขับไล่สิ่งเลวร้ายในปีก่อนให้พ้นไป และในช่วงเย็นจะมีงานบุญขนาดใหญ่นั่นคือการแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองด้วย ในช่วงนี้จะมีทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นเพื่อร่วมชมที่ได้ทั้งบุญและความสนุกสนาน จากนั้นในวันที่ 14 เมษายน ที่เรียกกันว่า "วันเนา" หรือ"วันเน่า"จะเป็นวันที่ห้ามด่าทอ ว่าร้ายผู้อื่นไม่เช่นนั้นจะทำให้โชคร้ายไปตลอดทั้งปี ส่วนในวันที่ 15 เมษายน"วันพญาวัน"หรือ"วันเถลิงศก"เป็นวันที่ชาวบ้านไปทำบุญตักบาตรเข้าวัดฟังธรรม จากนั้นจะมีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในช่วงบ่าย พอถึงวันที่วันที่ 16เมษายน"วันปากปี" ทุกคนก็จะพากันไปรดน้ำเจ้าอาวาสตามวัดต่าง ๆและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อขอขมา โดยในวันที่ 17 เมษายน "วันปากเดือน" ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเทศกาลสงกรานต์ ชาวบ้านจะทำการปัดตัว เพื่อส่งเคราะห์ต่าง ๆออกไป อันเป็นประเพณีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางภาคเหนือ หรือแผ่นดินล้านนาเท่านั้น
กิจกรรมหลัก
- ร่วมขบวนแห่และสรงน้ำ “พระพุทธสิหิงค์” ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่และแผ่นดินล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน รวมทั้งขบวนแห่ขนทรายเข้าวัด–ไม้ค้ำสะหลี (สะหลี หมายถึง ต้นโพธิ์)
สอบถามเพิ่มเติม : ททท. สำนักงาน เชียงใหม่ โทร. 0 532 48604 - 5
6. สงกรานต์ รื่นรมย์ บุญปีใหม่ไทย - ลาว จังหวัดนครพนม
วันที่ : 12 - 15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณถนนข้าวปุ้น และลานพนมนาคา เขตเทศบาลเมืองนครพนม จังหวัดนครพนม
สงกรานตรื่นรมย์บุญปีใหม่ไทย- ลาว ตามแบบวัฒนธรรม 7 ชนเผ่าของชาวนครพนม ที่ยังคงหลงเหลือกลิ่นอายของวัฒนธรรมท้องถิ่น เป็นการรักษารูปแบบของประเพณีที่แสดงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวนครพนม ร่วมตักบาตรข้าวเหนียววันปีใหม่ไทย กิจกรรมแข่งขันสะบ้าทอย พิธีตบปะทาย (ก่อเจดีย์ทราย) ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ อิ่มอร่อยกับตลาดโบราณย้อนยุค และเล่นน้ำสงกรานต์ 7 ชนเผ่า พร้อมชมการแสดงวัฒนธรรม นอกจากนี้ที่ อำเภอเรณูนคร จะมีการฟ้อนรำผู้ไทที่มีความอ่อนช้อยงดงาม และความมีมนต์ขลังของพิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน เพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน รวมทั้งขบวนแห่นางสงกรานต์ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างยิ่งใหญ่งดงาม
กิจกรรมหลัก
- อ.เมืองนครพนม ร่วมตักบาตรข้าวเหนียววันปีใหม่ไทย การแข่งขันสะบ้าทอย พิธีตบปะทาย(ก่อเจดีย์ทราย) ไหว้พระธาตุประจำวันเกิด 7 วัน 8 พระธาตุ อิ่มอร่อยกับตลาดโบราณย้อนยุค และเล่นน้ำสงกรานต์ 7 ชนเผ่า พร้อมชมการแสดงวัฒนธรรม
- อ.เรณูนคร ร่วมชมการฟ้อนผู้ไท พิธีบายศรีสู่ขวัญ ผูกข้อต่อแขน ขบวนแห่นางสงกรานต์สาวผู้ไทเรณูนครชมการละเล่นพื้นบ้านชาวผู้ไท ชิมอาหารพื้นเมือง การจำลองวิถีชีวิตของชาวผู้ไท และการประกวดสาวงามเรณูนคร ณ บริเวณถนนวัฒนธรรม เทศบาลตำบลเรณูนคร
สอบถามเพิ่มเติม : ททท. สำนักงานนครพนม โทร. 0 4251 3490 - 1
7. สงกรานต์แห่นางดาน จังหวัดนครศรีธรรมราช
วันที่ : 11 - 15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณสวนศรีธรรมมาโศกราชและหอพระอิศวร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
ประเพณีแห่นางดาน เป็นประเพณีทางศาสนาพราหมณ์ เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีตรียัมปวายหรือประเพณีโล้ชิงช้า ถือเป็นการอัญเชิญเทพชั้นรอง3องค์มารอรับเสด็จพระอิศวรที่จะเสด็จลงมายังโลกมนุษย์ ในช่วงเดือนยี่ของทุกปี เชื่อกันว่าเป็นการประสาทพรให้มีความสุขสบายคุ้มครองบ้านเมืองให้ปลอดภัย ดังนั้นในเทศกาลสงกรานต์ของจังหวัดนครศรีธรรมราชจึงมีรูปแบบแตกต่าง เนื่องจากเป็นศูนย์กลางศาสนาและวัฒนธรรม ทั้งทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีหลักฐานชี้ชัดถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต โดยเฉพาะพระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นปูชนียสถานที่สำคัญคู่บ้านคู่เมืองมีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญเมืองชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช สรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ในวันสงกรานต์ถือเป็นประเพณีปฎิบัติที่สืบเนื่องมาแต่โบราณเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่มีคุณค่าต่อสังคม ครอบครัวศาสนาและวัฒนธรรมที่ควรค่าแก่การสานต่อเพื่อคงไว้ซึ่งประเพณีที่ดีงาม
กิจกรรมหลัก
- ขบวนแห่นางดาน
สอบถามเพิ่มเติม เทศบาลนครศรีธรรมราช โทร. 0 7534 2880 - 2 ททท. สำนักงานนครศรีธรรมราช โทร. 0 7534 6515 - 6
8. สงกรานต์กรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สงกรานต์กรุงเก่า เล่นน้ำกับช้าง
วันที่ : 13 - 15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : บริเวณถนนศรีสรรเพชญ์ บริเวณด้านหน้า ททท. พระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
เล่นน้ำสงกรานต์ในอุทยานประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองมรดกโลก เป็นสงกรานต์แห่งเดียว ในโลกที่นักท่องเที่ยวได้ร่วมเล่นน้ำร่วมกับช้าง(นักท่องเที่ยวสามารถมาเล่นน้ำกับช้าง ณ บริเวณด้านหน้า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานพระนครศรีอยุธยา)
กิจกรรมหลัก
- สรงน้ำพระพุทธรูป และก่อเจดีย์ทราย
- การละเล่นน้ำสงกรานต์กับช้าง
- สนุกสนานกับรำวงย้อนยุค
สอบถามเพิ่มเติม : ททท. สำนักงานพระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3524 6076 – 7
สงกรานต์กรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
วันที่ : 13 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : บริเวณถนนหน้าเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กิจกรรมหลัก
- ทำบุญใส่บาตรข้าวสารอาหารแห้ง บริเวณด้านหน้าวิหารพระมงคลบพิตร
- ชมขบวนช้าง การประกวดขบวนแห่รถบุปผชาติที่สวยงาม
- การละเล่นน้ำสงกรานต์
สอบถามเพิ่มเติม : เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา โทร. 0 3525 2168
สงกรานต์มอญ
วันที่ : 14 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน บริเวณวัดทองบ่อ อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
กิจกรรมหลัก
- สรงน้ำพระจากรางไม้ไผ่แห่งเดียวในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
- ทำบุญใส่บาตร
- ชมขบวนแห่หงส์ธงตะขาบ (โน่) วัฒนธรรมประเพณีของชาวรามัญรอบหมู่บ้านและรอบพระเจดีย์ และห่มผ้าเจดีย์วัดทองบ่อ
สอบถามเพิ่มเติม : องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโพธิ์ โทร. 0 3535 0125
9. เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ สุพรรณบุรี ประจำปี 2559
วันที่ : 13 - 15 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน บริเวณเวทีกลางน้ำหน้าสถานีขนส่งจังหวัดสุพรรณบุรี อำเภอเมืองสุพรรณบุรี
รูปแบบงานสงกรานต์ตามแบบฉบับของสงกรานต์ภาคกลางที่ควรสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยอันดีงามซึ่งเป็นอีกหนึ่งงานสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ เพื่อให้ชาวสุพรรณบุรีและนักท่องเที่ยวได้มีความสุขและร่วมรักษาสืบสานประเพณีไทย
กิจกรรมหลัก
การแต่งชุดไทยเล่นน้ำสงกรานต์ชมการประกวดขบวนแห่ประเพณีสงกรานต์เอกลักษณ์ชนพื้นถิ่นของแต่ละอำเภอ จำนวน 10 อำเภอขบวนแห่หลวงพ่อโตทองคำและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดสุพรรณบุรี การประกวดเทพีสงกรานต์ การแสดงดนตรีจากนักร้องชื่อดังของไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน และการแสดงวงดนตรีจากนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดเวทีต่างๆ ฯลฯ
สอบถามเพิ่มเติ่ม : ที่ทำการปกครองจังหวัดสุพรรณบุรี โทร. 0 3553 5380 , ททท. สำนักงานสุพรรณบุรี โทร. 0 3552 5880, 0 3552 5867, 0 3552 5863-4
10. มหาสงกรานต์อีสานหนองคาย จังหวัดหนองคาย
วันที่ : 6 - 18 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณถนนเจนจบทิศ, ลานน้ำพุพญานาค, ถนนประจักษ์ และบริเวณวัดโพธิ์ชัย (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
เป็นรูปแบบสงกรานต์ที่ยิ่งใหญ่ ที่ผู้ร่วมงานสามารถร่วมแรงศรัทธาสรงน้ำพระหลวงพ่อพระใส พระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดหนองคาย โดยขบวนแห่หลวงพ่อพระใสที่ยิ่งใหญ่และแห่ทั่วเมืองหนองคายนั้นจะปฏิบัติเพียงปีละหนึ่งครั้ง เพื่อให้ประชาชนทั้งชาวไทย - ชาวลาวได้ร่วมสรงน้ำพระเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองในเทศกาลสงกรานต์
กิจกรรมหลัก
- ขบวนแห่หลวงพ่อพระใส
- การทำบุญตักบาตร
สอบถามเพิ่มเติม : ททท. สำนักงานอุดรธานี โทร. 0 4232 5406 - 7
11. งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน จังหวัดชลบุรี
วันที่ : 16 - 17 เมษายน 2559
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณชายหาดบางแสน อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี
งานประเพณีก่อพระทรายวันไหลบางแสน จังหวัดชลบุรี เป็นงานประเพณีที่ชาวตำบลแสนสุข ได้ถือปฏิบัติมาตั้งแต่สมัยโบราณ เดิมเรียกว่า งานทำบุญวันไหล คือ การที่สมาชิกในชุมชนของหมู่บ้านต่างๆ ได้มาทำบุญร่วมกันเนื่องในเทศกาลวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่ของไทย แต่ในปัจจุบันการละเล่นและประเพณี ดั้งเดิมบางอย่างเริ่มจะสูญหายไปเทศบาลเมืองแสนสุขจึงได้อนุรักษ์ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี และการละเล่นพื้นบ้านอันดีงามไว้ให้คงอยู่และเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
กิจกรรมหลัก
การประกวดและก่อพระทรายตลอดชายหาดบางแสน การแข่งขันมวยทะเล การละเล่นพื้นบ้านและการเล่นน้ำสงกรานต์วันไหล
สอบถามเพิ่มเติม : เทศบาลเมืองแสนสุข โทร. 0 3819 3509, ททท. สำนักงานพัทยา (ชลบุรี) 0 3842 7667, 0 3842 8750, 0 3842 3990
ขอบคุณข้อมูลจาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
แสดงความคิดเห็น