สถานีพัฒนาที่กาฬสินธุ์ เปลี่ยนทุ่งร้างหน้าแล้งเป็นทุ่งปอเทือง เร่งตีปี๊บส่งเสริมเกษตรกรให้เต็มพื้นที่เป้าหมาย 12,000 ไร่ ด้านเกษตรกรชี้ข้อดี 3 เด้ง ช่วยบำรุงดิน มีรายได้ และสร้างบรรยากาศท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้คึกคักยิ่งขึ้น
วานนี้ (20 ก.พ.) นายสุทธิดล วงศ์จันฬา ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดกาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายรังสรรค์ โพธิ์ชัย กำนันตำบลหนองตอกแป้น ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอยางตลาด และเกษตรกรเข้าเยี่ยมชมแปลงปลูกปอเทืองแปลงใหญ่ของ อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 2,000 ไร่ กระจายอยู่ตามในหมู่บ้านต่างๆ หลังสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้การส่งเสริมเกษตรกรหันมาปลูกปอเทืองในช่วงหน้าแล้ง ทดแทนการปลูกพืชชนิดอื่นๆ ที่จะมีความเสี่ยงต่อภาวะขาดทุน เพราะเชื่อว่าปีนี้แล้งรุนแรง และยาวนาน เป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน
โดยทุ่งปอเทืองภายใต้การสนับสนุน และการส่งเสริมของสถานีพัฒนาที่ดิน จังหวัดกาฬสินธุ์ กำลังเป็นที่นิยมอย่างมากเนื่องจากเป็นช่วงที่มีความสวยงามอย่างมาก เพราะปอเทืองกำลังออกดอกสีเหลืองทองเต็มท้องทุ่งกว้าง โดยเฉพาะแปลงของ นางอรอุมา ภูพาดสี ที่รวมกลุ่มกับญาติพี่น้องมีที่นาติดๆ กันพร้อมใจปลูกปอเทืองกว่า 70 ไร่ เต็มพื้นที่
นายสุทธิดล วงศ์จันฬา ผอ.สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ นายรังสรรค์ โพธิ์ชัย กำนันตำบลหนองตอกแป้น ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.ยางตลาด เข้าเยี่ยมชมแปลงปลูกปอเทืองแปลงใหญ่ของ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ ที่มีพื้นที่ปลูกกว่า 2,000 ไร่
เช่นเดียวกันกับกับของ นางทองคำ ภูแข่งหมอก เกษตรกร อ.ยางตลาด ที่ปลูกปอเทืองในนาข้าวกว่า 30 ไร่ ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินได้จัดให้เป็นพื้นที่ศึกษาดูงานสำหรับเกษตรกรที่สนใจปลูกปอเมืองในหน้าแล้งนี้ และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูป และท่องเที่ยวตลอดทั้งวัน
นายรังสรรค์ โพธิ์ชัย กำนันตำบลหนองตอกแป้น ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลในการลดต้นทุน ลดการใช้ปุ๋ย และหันมาบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยพืชสด การปลูกปอเทืองได้ประโยชน์ถึง 3 เด้ง ประโยชน์ต่อดิน ช่วยกำจัดวงจรวัชพืชในนาข้าว เป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
ต่อมาคือ การมีรายได้จากการขายเมล็ดปอเทือง ทั้งที่ขายให้แก่เอกชน และขายคืนให้แก่สถานีพัฒนาที่ดิน และสุดท้ายคือ การเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีการถ่ายภาพลงโซเชียล ทำให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จักมากขึ้น บรรยากาศในหมู่บ้าน และชุมชนก็คึกคัก เกิดความตื่นตัวของประชาชนที่จะหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น อย่างพื้นที่ ต.หนองตอกแป้น มีการส่งเสริมมากกว่า 3 ปี เริ่มจาก 10 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 500 ไร่ และขยายมากกว่า 1,200 ไร่ในปีนี้
นายสุทธิดล วงศ์จันฬา ผอ.สถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงหน้าแล้งนี้การปลูกปอเทืองน่าจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกร นอกเหนือจากที่จะใช้เป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อบำรุงดินแล้ว ยังนำเมล็ดมาจำหน่ายให้แก่ทางสถานีพัฒนาที่ดินได้ด้วย โดยเปิดรับซื้อกิโลกรัมละ 21 บาท ซึ่งเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ จะได้ผลผลิตประมาณ 180-250 กก. ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาทต่อไร่ ทั้งการเกี่ยว และไถกลบ เกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 3,000 บาทต่อไร่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว
ก็ดีกว่าที่เกษตรกรจะปล่อยทุ่งนาให้ร้างหน้าแล้ง และดีกว่าที่จะเสี่ยงลงทุนปลูกพืชในช่วงหน้าแล้งปีนี้เพราะคาดการณ์ว่า จะแล้งรุนแรงกว่าทุกๆ ปี ทั้งนี้ ในการปลูกปอเทืองเมื่อหว่านเมล็ดในแปลงแล้วปอเทืองจะเติบโตเองโดยไม่ต้องใช้น้ำ และใส่ปุ๋ยใดๆ อายุ 120 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้โดยใช้รถเกี่ยวข้าว จากนั้นก็ใช้รถไถ ไถกลบทั้งตอซัง เมล็ดพันธุ์นำกลับมาขายให้แก่สถานีพัฒนาที่ดิน ตอซังที่ไถกลบเป็นปุ๋ยบำรุงดิน
โดยเกษตรกรที่เริ่มปลูกปอเทืองมา 3-5 ปี จะเห็นข้อดีอย่างชัดเจนโดยเฉพาะนาข้าว ที่จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 10-20% นอกจากนี้ นาข้าวที่ไถกลบด้วยปอเทืองแล้วไม่ต้องใส่ปุ๋ยทำให้ลดต้นทุนการทำนาไปได้มาก
ในส่วนของการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกปอเทืองในพื้นที่นั้น ทางสถานีพัฒนาที่ดิน จ.กาฬสินธุ์ ได้ส่งเสริมในรูปแบบแปลงใหญ่ โดยมีกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร หมอดินหมู่บ้าน และหมอดินตำบล เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกษตรกรจับกลุ่มรวมตัวกันในพื้นที่ใกล้เคียงกัน ก่อนจะหว่านปอเทืองพร้อมๆ กัน เพื่อให้เวลาออกดอกสีเหลืองอร่ามของปอเทืองจะดูสวยงามเป็นทุ่งปอเทืองกว้างสุดลูกหูลูกตา สวยงามอย่างมาก โดยสถานีพัฒนาที่ดินก็จะเข้าไปส่งเสริมให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวร่วมกับชาวบ้าน ที่ถือว่ามีกระแสตอบรับดีบรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่คักคักมากขึ้น
สำหรับเกษตรกรที่สนใจจะปลูกปอเทือง สามารถติดต่อสอบถามได้ที่สถานีพัฒนาที่จังหวัดกาฬสินธุ์ได้ ซึ่งมีเมล็ดพันธุ์แจกให้แก่เกษตรกรฟรี รวมถึงข้อแนะนำการปลูก การเก็บเกี่ยว และการรับซื้อผลผลิต ที่ปีนี้ตั้งเป้าในพื้นที่ 12,000 ไร่ และรับซื้อผลผลิตประมาณ 85 ตัน” นายสุทธิดล กล่าว
ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
แสดงความคิดเห็น