โรงแรมญี่ปุ่นรุกทำตลาด รับกระแสไทยแห่เที่ยวพุ่ง
โดย...จารุพันธ์ จิระรัชนิรมย์กระแสคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นยังร้อนแรงต่อเนื่อง จะเห็นได้จากบริษัทนำเที่ยวต่างผลิตโปรแกรมทัวร์เส้นทางใหม่ๆ ในญี่ปุ่นออกมาไม่ขาดสายสนองความต้องการคนที่เคยไปแล้วอยากกลับไปอีก รวมถึงสายการบินสัญชาติไทยและต่างชาติที่คลอดโปรโมชั่นเส้นทางบินจากไทยไปญี่ปุ่นมายั่วใจคนไทยที่เดินทางท่องเที่ยวเองต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจทำให้รัฐและเอกชนท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเห็นโอกาสมารุกตลาดคนไทยไม่ขาดสาย
สำหรับสถานการณ์การเติบโตของคนไทยเที่ยวญี่ปุ่น จากสถิติที่จัดเก็บโดยบริษัท เจแปน ทัวริซึ่ม มาร์เก็ตติ้ง ย้อนหลังไปเมื่อ 5 ปีก่อน (ปี 2554) ซึ่งเป็นช่วงปีที่ญี่ปุ่นเผชิญกับสึนามิ คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น 1.44 แสนคน ต่อมาปี 2555 มีคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น 2.6 แสนคน และเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหลังวันที่ 1 ก.ค. 2556 เมื่อทางญี่ปุ่นประกาศยกเว้นวีซ่าเข้าญี่ปุ่นให้คนไทย ส่งผลให้ทั้งปี 2556 คนไทยเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มเป็น 4.53 แสนคน ส่วนปี 2557 มี 6.57 แสนคน และล่าสุดสถิติ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย. 2558) มีคนไทยเที่ยวญี่ปุ่น 7.03 แสนคนแล้ว เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกปี
ศุภฤกษ์ ศูรางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ และนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวญี่ปุ่นมองตลาดคนไทยเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและดูแลไม่ยาก ในช่วงที่ผ่านมาจึงใช้วิธีทำตลาดเชิงรุกกับตลาดคนไทยด้วยการส่งตัวแทนเดินทางมาแนะนำโรงแรม ร้านอาหาร รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวญี่ปุ่นในไทย
กลยุทธ์ทำตลาดของภาคท่องเที่ยวญี่ปุ่นจะแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ ตลาดท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ (เลเชอร์) และตลาดท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟ) หากเป็นตลาดเลเชอร์จะเข้ามาหาบริษัทนำเที่ยว หรือเข้ามาผ่านทีทีเอเอ เพื่อจัดงานอัพเดทผลิตภัณฑ์ พร้อมจัดโปรโมชั่นร่วมกัน ซึ่งกลุ่มนี้มีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนก็จะไปโปรโมทกับคนไทยที่เดินทางเที่ยวเอง ด้วยการจัดงานออกบูธ รวมถึงมุ่งตรงไปนำเสนอกับบริษัทต่างๆ ที่มีญี่ปุ่นเป็นเจ้าของหรือผู้ลงทุน
ทั้งนี้ ประเมินว่าปี 2558 จำนวนคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นเติบโต 30% ส่วนปีนี้ประเมินการเติบโตของคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นอยู่ในระดับใกล้เคียงปีที่ผ่านมา เพราะญี่ปุ่นยังเป็นจุดหมายยอดนิยมสำหรับคนไทยต่อเนื่อง คนที่เคยไปแล้วก็ต้องการกลับไปเที่ยวอีกในช่วงที่ยังไม่เคยไป อย่างไรก็ตาม การเติบโตของจำนวนคนไทยที่ไปญี่ปุ่นก็ต้องขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจไทยด้วย
“อัตราการเติบโตของคนไทยไปญี่ปุ่นคงจะมีเปอร์เซ็นต์ที่ลดลงเรื่อยๆ ไม่ใช่เพราะคนไทยไปน้อยลง แต่เพราะฐานจำนวนคนไทยไปญี่ปุ่นเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น ก่อนหน้านี้เคยโต 80% เพราะฐานจำนวนคนไทยไปญี่ปุ่นยังน้อยอยู่ จากนั้นก็ลดเหลือ 60% ลงมาเป็น 50% และอยู่ที่ 30%” ศุภฤกษ์ กล่าว
กฤชณัฐ มีสำราญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สไมล์ลิ่ง กรุ๊ป กล่าวว่า มีโรงแรมจากญี่ปุ่นในหลายๆ เมือง เข้ามาจัดงานแนะนำตัวกับบริษัทนำเที่ยวไทยต่อเนื่อง พร้อมกับนำเสนอทำโปรโมชั่นร่วมกัน รวมถึงจะมีการแนะนำว่าในพื้นที่ที่โรงแรมตั้งอยู่จะมีเทศกาลอะไรน่าสนใจเพื่อดึงดูดให้ไปใช้บริการ
ขณะที่การเลือกโรงแรมในญี่ปุ่นของบริษัทนำเที่ยวไทย ก็จะเน้นป็นโรงแรมใกล้ตัวเมือง ใกล้สถานีรถไฟ เดินทางไปช็อปปิ้งได้สะดวกและปลอดภัย ซึ่งการมีโรงแรมในญี่ปุ่นมาแนะนำตัวกับบริษัทนำเที่ยวไทยมากขึ้น ก็ทำให้บริษัทนำเที่ยวมีทางเลือกหาโรงแรมได้สอดคล้องกับกลุ่มลูกค้าที่จะเดินทางไปมากขึ้น
สำหรับการทำตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นของบริษัทนั้น แต่ละปีจะนำคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่น 30-50 กรุ๊ป เฉลี่ย 800-1,500 คน/เดือน ซึ่งในปีนี้ก็น่าจะอยู่ในระดับเดียวกัน โดยมีเส้นทางท่องเที่ยวให้เลือกหลากหลายขึ้น และในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. จะเป็นฤดูกาลที่คนไทยนิยมไปมากที่สุด บริษัทก็เตรียมนำเที่ยวบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ไว้แล้ว โดยเดือน เม.ย. จะมีชาร์เตอร์ไฟลต์ประมาณ 18 เที่ยวบิน
“ปีนี้ตลาดคนไทยเที่ยวญี่ปุ่นน่าจะมีทิศทางโตดีกว่าปีก่อนที่บังเอิญมีประเด็นเรื่ององค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ให้สัญลักษณ์ธงแดงมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินของไทย และทางองค์กรการบินของญี่ปุ่นก็มีมาตรการห้ามสายการบินสัญชาติไทยเพิ่มเที่ยวบิน เปลี่ยนเครื่องบิน และห้ามทำชาร์เตอร์ไฟลต์ออกมาพอดีในฤดูกาลที่คนไทยไปญี่ปุ่นมาก” กฤชณัฐ กล่าว
อะกิระ คิตะฮะระ กรรมการบริหารและกรรมการปฏิบัติงาน บริษัท ฟุจิตะคังโค กล่าวว่า บริษัทดำเนินธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจร ตั้งแต่การบริหารเครือโรงแรมวอชิงตัน โรงแรมเกรเซอรี่ โรงแรมระดับหรู สถานที่จัดงานแต่งงาน โรงแรมสไตล์รีสอร์ท โรงแรมแบบญี่ปุ่น (เรียวกัง) ร้านอาหาร สนามกอล์ฟ และพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ โดยบริษัทมองเห็นโอกาสด้านการท่องเที่ยวจากการที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิกและพาราลิมปิกในปี 2563 ดังนั้นจึงมีแผนมุ่งเจาะตลาดเอเชียตะวันออกและกลุ่มประเทศอาเซียนมากขึ้น
ทั้งนี้ วางยุทธศาสตร์ไว้ 2 ประการ คือ กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติไปญี่ปุ่นมากขึ้น และขยายธุรกิจของบริษัทไปสู่ต่างประเทศ ซึ่งไทยเป็นตลาดที่บริษัทให้ความสำคัญอันดับแรก เพราะมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับญี่ปุ่น ล่าสุดได้จัดตั้งสำนักงานที่กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดตัวเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2559 จากเดิมมีสำนักงานในต่างประเทศ 4 แห่ง ได้แก่ ไทเป โซล เซี่ยงไฮ้ และจาการ์ตา
อะกิระ กล่าวว่า ปีที่ผ่านมามีลูกค้าต่างชาติให้บริการโรงแรมในเครือของฟุจิตะคังโค 1.09 ล้านคน คิดเป็น 29.5% ของผู้ใช้บริการรวม ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 4.2 หมื่นคน ตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มยอดคนไทยใช้บริการเป็น 2 เท่าของยอดปัจจุบันภายใน 2-3 ปีจากนี้ โดยหลังมีสำนักงานในไทยก็พยายามเดินสายให้ข้อมูลโรงแรมในเครือต่อเนื่องกับบริษัทนำเที่ยวไทย รวมทั้งบริษัทญี่ปุ่นในไทย ขณะเดียวกันจะมองหาโอกาสในการขยายโรงแรมและร้านอาหารในไทยด้วย
ขณะที่แผนเปิดกิจการใหม่หลังจากนี้ ได้แก่ โรงแรมเกรเซอรี่ นาฮะ ที่โอกินาวา เปิดเดือน เม.ย. 2559 มี 198 ห้อง โรงแรมเกรเซอรี่ เกียวโตซังโจ ที่เกียวโต เปิดเดือน ก.ค. 2559 มี 97 ห้อง ฮาโกเน่ โควะคิเอ็น เท็นยู ที่ฮาโกเน่ เปิดฤดูใบไม้ผลิปี 2560 มี 150 ห้อง โรงแรมเกรเซอรี่ เกียวโตซังโจ ถนนชินเกียวโกคุ ที่เกียวโต เพิ่มห้องและเปิดเดือน พ.ค. 2560 มีอีก 128 ห้อง รวมทั้งโรงแรมใหม่ที่ย่านนัมแดมุน กรุงโซล เกาหลีใต้ จะเปิดช่วงฤดูร้อนปี 2561 มี 335 ห้อง
ภาพที่เกิดขึ้นเชื่อว่าตลาดคนไทยน่าจะยังเป็นตลาดนักท่องเที่ยวดาวรุ่งสำหรับญี่ปุ่นได้อีกหลายปี
ที่มา : โพสต์ทูเดย์
แสดงความคิดเห็น