หลงเสน่ห์ ‘เว้’ เมืองมรดกโลก
คำว่า “มรดกโลก” ช่างเป็นมนต์ขลังดึงดูดให้ “เว้” เมืองเล็กๆใจกลางประเทศ ที่เคยดำรงฐานะเป็นเมืองหลวงของเวียดนาม มีเสน่ห์น่าค้นหา ร่องรอยความเจริญรุ่งโรจน์ของอารยธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ ที่ก้าวข้ามผ่านยุคแห่งการล่าอาณานิคม ทั้งจากฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 การถูกแทรกแซงจากอเมริกา แยกเวียดนามออกเป็น เวียดนามเหนือ-ใต้‘เว้’ เมืองมรดกโลก
กระทั่ง “โฮจิมินห์” นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีคนแรก ประกาศรวมเวียดนามเหนือ-ใต้ เป็นหนึ่งเดียว พร้อมเปลี่ยนชื่อประเทศใหม่เป็น “สาธารณรัฐสังคมเวียดนาม” ประวัติศาสตร์ และความเก่าแก่แบบคลาสสิกนักท่องเที่ยว ยกให้ “เว้” เป็นจุดหมายปลายทางที่คุณต้องไม่พลาดมาเยี่ยมชม”
วัดเทียนหมู่
“วัดเทียนหมู่” (Thien Mu) หรือที่นักท่องเที่ยวชาวไทยนิยมเรียกกันว่า “วัดเทพธิดาราม” คือ หนึ่งในความคลาสสิกที่ว่า ความงดงามสะกดสายตา นับตั้งแต่แรกเห็น ทั้งจากศิลปะอันวิจิตรตรงประตูทางเข้า รวมถึงความสูงหลายสิบเมตรของ เจดีย์ทรง 8 เหลี่ยม 7 ชั้น ที่ตั้งตระหง่าน ท่ามกลางแมกไม้ใหญ่น้อย ศูนย์กลางแห่งศรัทธาทางพุทธศาสนานิกายเซน ที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1601 หรือ 415 ปีมาแล้ว
นครจักรพรรดิ
ต่อด้วย “นครจักรพรรดิ” หรือที่ถูกเรียกขานกันว่า “นครต้องห้าม” บางคนเรียกว่า “พระราชวังหลวง” สถานที่ประทับของกษัตริย์ราชวงศ์เหวียนแห่งเว้ทั้ง 13 พระองค์ ระหว่างปี 2345-2488 โดย "จักรพรรดิยาลอง" เป็นปฐมกษัตริย์แห่งเมืองเว้ เป็นผู้สถาปนานครแห่งนี้ขึ้น กษัตริย์องค์สุดท้ายคือ “พระเจ้าบ๋าวได๋” ซึ่งทรงสละราชบัลลังก์ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นเวียดนามในปัจจุบัน “นครจักรพรรดิ” ออกแบบตามความเชื่อของจีนโบราณ มีผังเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส กำแพงสูง 3 ชั้น ล้อมรอบ มีทางเข้า 10 ประตู แต่ละประตูมีหอคอย เมื่อเดินผ่านกำแพงชั้นนอกเข้าไป จะเป็นกำแพงชั้นกลาง หรือ กำแพงเหลือง เหลือประตูทางเข้า 4 ทาง ประตูที่สำคัญ คือ ประตูเที่ยงวัน สร้างขึ้นครั้งแรกด้วยหินแกรนิตในสมัยพระเจ้ามินห์หม่าง ที่นี่คือประตูสัญลักษณ์แห่งนครจักรพรรดิ เป็นประตูที่นักท่องเที่ยวเข้าแถวตีตั๋วเพื่อเดินเข้าสู่ชั้นถัดไปในพระราชวัง เข้าสู่กำแพงชั้นใน เดิมเป็นเขตเฉพาะสำหรับกษัตริย์และเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ
สุสานจักรพรรดิไคดิ่ง
เมืองเว้ ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวไฮไลต์อีกแห่งหนึ่ง คือ “สุสานจักรพรรดิ” ที่โดดเด่นเห็นจะเป็น “สุสานจักรพรรดิไคดิ่ง” (Khai Dinh) ขึ้นชื่อว่า มีความยิ่งใหญ่สวยงามมากที่สุดเหนือบรรดาสุสานจักรพรรดิทั้งหมด ความลงตัวของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานระหว่างตะวันออกกับตะวันตก นับเป็นสุสานเพียงแห่งเดียวในเมืองเว้ที่มีงานศิลปกรรมตะวันตกเข้ามาผสม ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากยุคล่าอาณานิคมที่รุกคืบเข้ามาในช่วงเวลานั้น จากความเชื่อของชาวเวียดนามหลุมฝังศพกษัตริย์ต้องอยู่สูงกว่าสามัญชน สุสานจักรพรรดิแห่งนี้จึงตั้งอยู่บนเนินเขาสูง มีบันไดทางขึ้นถึง 127 ขั้น ความโอ่อ่าปรากฏนับตั้งแต่ซุ้มประตูทางขึ้น มีรูปปั้นทหาร ช้าง ม้า ตั้งโดดเด่นดั่งองค์รักษ์พิทักษ์สุสาน ส่วนด้านบนสุดเป็นที่ตั้งของสุสาน มีรูปปั้นของพระเจ้าไคดิ่งเป็นศูนย์กลาง ฝังอยู่ใต้รูปปั้นลึกลงไปถึง 11 เมตร ภายในสุสานชั้นในมีการตกแต่งผนังด้วยกระเบื้องเคลือบสีซึ่งรับอิทธิพลมาจากจีน หลายจุดทำเป็นรูปมังกรตามความเชื่อแบบจีน ที่ต้องไม่พลาด คือ งานเขียนสีรูปมังกรในม่านเมฆขนาดใหญ่เหนือรูปปั้นพระเจ้าไคดิ่ง งานเขียนสีชิ้นนี้มีความลับซุกซ่อนอยู่ จากความเชื่อที่ว่า สามัญชนห้ามยืนศีรษะอยู่สูงกว่ากษัตริย์ ทำให้ไม่มีศิลปินคนใดที่จะสามารถทำงานชิ้นนี้ได้สำเร็จ จึงแก้เคล็ดด้วยการสลับกลับตัวมาอยู่ด้านล่างแล้วให้ศิลปินใช้เท้าคีบพู่กันวาดแทน เพราะสมัยนั้นไม่ถือเรื่องเท้าอยู่สูงแต่อย่างใด จึงเกิดเป็นภาพขนาดใหญ่อันน่าทึ่ง ภายในพระราชวังเทียนดิงห์ ยังมีห้องจัดแสดงภาพ เรื่องราว รวมถึงเครื่องใช้ต่างๆของพระเจ้าไคดิ่งห์ และรูปปั้นสำริดขนาดเท่าองค์จริงของพระเจ้าไคดิ่งห์ ซึ่งสั่งทำขึ้นที่ประเทศฝรั่งเศสเมื่อปี 2465 ด้วยความงามอันวิจิตร อลังการของสุสานจักรพรรดิไคดิ่งนี้เองทำให้สถานที่แห่งนี้ ถูกยกย่องให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งเมืองเว้ กันเลยทีเดียว
พระตำหนักอันกุงดิงห์
ปิดทริปด้วยความประทับใจจากความงดงามของ “พระตำหนักอันกุงดิงห์” อดีตสถานที่ประทับของพระชนนีในพระจักรพรรดิองค์สุดท้าย ตรึงใจนับตั้งแต่สถาปัตยกรรมลวดลายปูนปั้นอันอ่อนช้อยด้านนอกตัวอาคารขณะที่ภายในศิลปินโชว์ทักษะขั้นสูง เขียนภาพติดผนังลายดอกกุหลาบนานาพรรณให้ล้อไปกับสวนดอกไม้ขนาดใหญ่ด้านนอกที่ถอดแบบมาจาก “พระราชวังแวร์ซายส์” ได้อย่างกลมกลืน เสี้ยวหนึ่งของความประทับ เมื่อครั้งมีโอกาสไปเยือน “เว้ เมืองแห่งมรดกโลก” ด้วยตัวเอง
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,124 วันที่ 21 – 23 มกราคม พ.ศ. 2559
แสดงความคิดเห็น