งานบุญแข่งเรือออกพรรษาไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) และพิธี “ตีช้างน้ำนอง”
แห่งเดียวในประเทศไทย
จังหวัดมุกดาหารมีพื้นที่อยู่ติดแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว มีแม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตพรมแดน ประเพณีท้องถิ่นที่สำคัญได้ยึดถือปฏิบัติกันมาแต่ครั้งโบราณ คือ “งานบุญส่วงเฮือ” หรืองานบุญประเพณีแข่งเรือออกพรรษา นับเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ประจำปี ซึ่งทั้งสองเมืองต่างได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมานานนับร้อยปี แม่น้ำโขงนับว่ามีความสำคัญในการดำรงชีพหล่อเลี้ยงชีวิตชาวชนบทท้องถิ่นแห่งนี้ ทั้งการอุปโภคบริโภคยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่ติดต่อซื้อขายกันมาในยุคสมัยโบราณจนบัดนี้งานประเพณีแข่งเรือออกพรรษาของจังหวัดมุกดาหาร มีประวัติความเป็นมานับแต่ครั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี เดิมงานนี้มีชื่อเรียกว่า “งานบุญ ส่วงเฮือ” เมื่อสมัยอดีตกาลที่ยังเป็นเมืองมุกดาหารในปีหนึ่งๆ เจ้าเมืองกินรีจะมีการจัดให้มีพิธีดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาปีละ 2 ครั้ง คือในวันตรุษสงกรานต์ตรงกับเดือน 5 ขึ้น 15 ค่ำและในวันสาร์ท ขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ผู้รับราชการสนองพระเดชพระคุณทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล และทุกหัวเมืองน้อยใหญ่ จะต้องมาร่วมประกอบพิธีดังกล่าว จะขาดเสียมิได้เพราะถือมีความผิดร้ายแรง และในการเดินทางมาร่วมพิธีนั้น ส่วนใหญ่จะเดินทางด้วยเรือซึ่งเป็นยานพาหนะที่สำคัญในยุคสมัยนั้น เนื่องจากมีความสะดวกมากกว่าทางบกที่จะใช้วัวเทียมเกวียนหรือรถม้ารวมทั้งช้างเป็นยานพาหนะในการเดินทาง โดยเฉพาะในวันขึ้น 15 เดือน 11 ค่ำ ซึ่งตรงกับช่วงวันออกพรรษาพอดี น้ำในแม่น้ำโขงอยู่ในช่วงสูงขึ้นปริ่มฝั่งปราศจากเกาะแก่ง ประชาชนส่วนใหญ่กำลังว่างจากฤดูทำนา เมื่อประชาชนทุกหมู่บ้านมารวมกันจำนวนมากจึงได้เกิดความคิด ในการจัดเรือที่เป็นพาหนะในการเดินทางมาประชันแข่งขันพายเรือแห่เรือกันเพื่อความสนุกสนาน เป็นการสมานความสามัคคีระหว่างหัวเมืองน้อยใหญ่ในขอบขันธสีมา การแข่งขันจะต้องจัดพิธีสักการะ บวงสรวงดวงวิญญาณบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทั้งบนบกและในน้ำเพื่อความเป็นศิริมงคล ก่อนเริ่มพิธีการแข่งขันทางน้ำเรือนับรอยลำทุกลำจะต้องเข้าขบวนเรือ “ตีช้างน้ำนอง” ซึ่งนับว่าเป็นพิธีการบวงสรวง สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม่พระคงคา เทวดา พญานาค บนคุ้งน้ำแห่งนี้ เพื่อให้เกิดความสงบร่มเย็นเป็นสุขของเหล่าผองพี่น้องประชาชนที่หาอยู่หากินในลำน้ำโขง พิธี “ตีช้างน้ำนอง” เป็นการรวมขบวนเรือที่มีฝีพายชั้นเยี่ยมนับร้อยลำพายผ่านประรำพิธีเป็นการน้อมคาราวะเจ้าเมืองทั้งมวล นับเป็นภาพที่สวยงามยิ่งใหญ่ของขบวนเรือแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมของบรรดาชาวเรือที่ก่อนทำการแข่งขันอีกด้วย ซึ่งประเพณี “ตีช้างน้ำนอง” กำเนิดขึ้นที่จังหวัดมุกดาหารเป็นแห่งแรกแห่งเดียวของประเทศไทย ดังนั้น ประเพณี “ตีช้างน้ำนอง” จึงเป็นงานประเพณีที่สำคัญ ในงานแข่งเรืออออกพรรษาในลำน้ำโขงและได้มีการพัฒนาการจัดงานประเพณีสืบสานตำนานเดิมเรื่อยมา นับว่าเป็นงานบุญประเพณีที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศที่ทั้งสองเมืองมุกดาหารและสะหวันนะเขต ยังคงสืบสานปฏิบัติร่วมกันมานานนับร้อยปีจวบจนปัจจุบัน
พิธีตีช้างน้ำนอง
ที่มาข้อมูล : www.mukdahannews.com