หากแบ่งกลุ่มนครตามมิติภูมิศาสตร์ จังหวัดในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น ร้อยเอ็ด ยโสธร สุรินทร์ ศรีสะเกษ ได้แปลงสภาพเป็น เขตปลูกข้าวสำคัญ แห่งหนึ่งในอาเซียน ขณะที่เมืองในแอ่งสกลนคร เช่น นครพนม มุกดาหาร กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมโขงและย่านเศรษฐกิจชายแดน ส่วนอุดรธานี เป็นฐานสินค้ารองรับกำลังซื้อจากคนลาวที่เวียงจันทน์ แต่ถ้าแบ่งตามย่านชายแดน หนองคาย ถือเป็นด่านการค้าที่เติบโตโดดเด่น
เนื่องจากสถานะจุดศูนย์กลางระหว่างเวียงจันทน์กับอุดรธานี แต่สำหรับนครพนมและมุกดาหาร สถานะเชื่อมต่อกับลาวที่แขวงคำม่วนและแขวงสะหวันนะเขต ซึ่งโยงไปถึงเมืองในเวียดนาม เช่น เมืองวินห์ และเมืองเว้ มีผลต่อศักยภาพโลจิสติกส์และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมอาเซียนของทั้ง 2 จังหวัด
ขณะที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ก็เริ่มพัฒนาด่านพาณิชย์ตามช่องเขา เพื่อเพิ่มปริมาณการค้ากับกัมพูชาพร้อมส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งอารยธรรมปราสาทหิน สำหรับอุบลราชธานี นับเป็นเมืองใหญ่ที่มีกำลังการพัฒนาตลาดเออีซีในระดับสูง เช่น สามเหลี่ยมมรกตที่เชื่อมทั้งชายแดนลาวและกัมพูชา ผิดกับโคราชที่ขาดแนวพรมแดนประชิดเพื่อนบ้าน
ทว่า ด้วยศักยภาพการพัฒนาเมืองในอดีตและพลังเชื่อมต่อกับกรุงเทพฯ พร้อมจังหวัดชายแดนเขมรส่วนอื่นหรือจังหวัดชายทะเลตะวันออก เช่น บุรีรัมย์ สระแก้ว และจันทบุรี จึงทำให้โคราชยังคงครองความโดดเด่นในภาคอีสาน
โครงการรถไฟความเร็วสูง คืออีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญ ซึ่งทำให้โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น อุดรธานี หนองคาย บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี มีความได้เปรียบจังหวัดที่ขาดเส้นทางรถไฟ เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร บึงกาฬ นครพนม ทว่า หากมีการสร้างทางรถไฟหรือพัฒนาทางหลวงเออีซีแบบจริงจังในอนาคต กลุ่มจังหวัดดังกล่าว อาจมีกำลังพัฒนาเชิงเปรียบเทียบที่พุ่งสูงขึ้น อาทิ กาฬสินธุ์ ที่เตรียมโครงการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าเกษตรผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor-EWEC) พร้อมกุมทางแยกที่หักขึ้นไปเวียงจันทน์ผ่านยางตลาด เขื่อนลำปาว ท่าคันโท แล้วตรงเข้าอุดรฯ-หนองคาย
ส่วนสนามบินที่ขอนแก่น อุดรธานี ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สกลนคร และนครพนม ล้วนส่งผลต่อการคมนาคมที่รวดเร็วขึ้น จนทำให้เกิดลักษณะเมืองเด่นและเมืองย่อยบนภูมิทัศน์อีสาน เช่น สนามบินขอนแก่นและร้อยเอ็ดที่ใช้รองรับส่งต่อผู้โดยสารไปมหาสารคาม กาฬสินธุ์ และยโสธร และสนามบินนครพนมที่ช่วยส่งต่อการสัญจรทางบกไปมุกดาหาร พร้อมเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวสองฝั่งโขง
กระนั้นก็ตาม แม้จังหวัดต่าง ๆ จะเริ่มเผยศักยภาพในแง่ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยังมีประเด็นท้าทายอย่างน้อย 2 ประการที่ส่งผลต่อแนวโน้มการพัฒนาเมืองในอีสานยุคเออีซี
1.Charles Keyes นักมนุษยวิทยาอเมริกัน เคยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเปรียบเทียบภาคเหนือกับภาคใต้ ที่มีเมืองเอกเป็นศูนย์รวมการพัฒนาภาคและศูนย์กลางยุทธศาสตร์เพียงแห่งเดียว คือ เชียงใหม่และนครศรีธรรมราช ภาคอีสานกลับประกอบด้วยเมืองเอกหลายศูนย์ เช่น โคราช ขอนแก่น อุดรธานี และอุบลราชธานี ฉะนั้น หากทิศทางการพัฒนาภาคยังคงมีลักษณะค่อนข้างกระจายตัวตามแนวคิดของ Keyes ก็นับเป็นข้อได้เปรียบสำหรับภาคอีสาน ที่จะมีศูนย์แม่ข่ายรองรับการรวมกลุ่มอาเซียนที่หลากหลาย
เพียงแต่ว่า รัฐบาลไทยอาจต้องเพิ่มความโดดเด่นให้กับจังหวัดชายแดนและจังหวัดชั้นในบางแห่ง เช่น การตั้งเมืองร้อยเอ็ดให้คุมเศรษฐกิจลุ่มน้ำชีและทุ่งกุลาร้องไห้ เช่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สุรินทร์ พร้อมโยงกำลังโลจิสติกส์เข้าชายแดนลาว-เขมร ผ่านนครพนม มุกดาหาร สุรินทร์ และอุบลราชธานี ซึ่งจะทำให้เกิด วงนครแห่งใหม่ ตรงจุดสะดืออีสานที่มีขีดความสามารถเข้มข้นในการเชื่อมต่อทั้งเขตอีสานและเขตอินโดจีน
2.เป็นธรรมดาที่บางเมืองในอีสานอาจขาดความโดดเด่นในแง่ยุทธศาสตร์การพัฒนาเออีซี เช่น จังหวัดเลย ซึ่งถูกประกบโดย 2 จังหวัดใหญ่อีสาน คือ ขอนแก่นและหนองคาย รวมถึงจังหวัดภาคกลางตอนบนอย่างพิษณุโลก ทั้ง ๆ ที่เมืองเลยมีศักยภาพพอตัวในแง่การพัฒนาชายแดน ดังเห็นได้จากจุดผ่านแดนถาวรไทย-ลาวระหว่างเชียงคานกับเมืองสานะคาม ประเทศลาว รวมถึงสะพานมิตรภาพข้ามแม่น้ำเหือง ระหว่างท่าลี่กับแก่นท้าว นอกจากนั้น อำเภอด่านซ้าย ซึ่งตั้งห่างจากฝั่งขวาแม่น้ำโขงลงมาทางใต้ราว 110 กิโลเมตร ก็เคยเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ เช่น จุดแบ่งเขตระหว่างอาณาจักรอยุธยากับล้านช้าง ตรงองค์พระธาตุศรีสองรัก
ฉะนั้น จึงนับว่า เลย คืออีก 1 จังหวัดที่ควรได้รับการส่งเสริมในแง่การขยายตัวเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวในอินโดจีน
โดยใช้แกนพัฒนาที่ลากโยงจากฝั่งขวาแม่น้ำโขง-แม่น้ำเหืองที่เชียงคาน-ท่าลี่ แล้วพุ่งลึกเข้าด่านซ้าย ซึ่งจะทำให้เกิดการกระจายตัวของสินค้าและกิจกรรมท่องเที่ยวที่ไหลเชื่อมเพชรบูรณ์และพิษณุโลก ผ่านระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งเคลื่อนตัวจากเมืองท่าดานังในเวียดนาม เข้าเมืองท่ามะละแหม่งในเมียนมา
อีสานวันนี้ แตกต่างสิ้นเชิงจากอีสานเมื่อหลาย 10 ปีก่อน ซึ่งแนวพรมแดนถูกปิดกั้นใต้กรอบระเบียบรัฐชาติและความเป็นปฏิปักษ์ต่อเพื่อนบ้านผ่านการเมืองอุดมการณ์ยุคสงครามเย็น
คอลัมน์ ASEAN SECRET โดย ดุลยภาค ปรีชารัชช
แสดงความคิดเห็น