เอกชน-นักลงทุนต่างประเทศเมินเขตเศรษฐกิจ (SEZ) “หนองคาย-มุกดาหาร” รอความชัดเจนรถไฟรางคู่ ไฮสปีด หนองคายเชื่อมต่อ สปป.ลาว เผยสารพัดปัจจัยทั้งเอกชนมีที่ดินแล้ว-สิทธิประโยชน์สู้ประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ 2 จังหวัดใจตรงกันหนุนดันเป็นฮับโลจิสติกส์
นายกิตติพงษ์ สกุลคู กรรมการหอการค้าจังหวัดหนองคาย และกรรมการผู้จัดการ บริษัทในเครือเจียงอินเตอร์เนชั่นแนล กลุ่มทุนท้องถิ่นรายใหญ่ในจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้นักธุรกิจ นักลงทุน ยังไม่กล้าที่จะตัดสินใจเข้ามาประมูลพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่รอความชัดเจนของโครงการรถไฟทั้งรถไฟรางคู่ และรถไฟความเร็วสูงที่จะมาถึงหนองคาย และการเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางกับ สปป.ลาว ไปถึงจีน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ใช้ในการตัดสินใจของผู้ที่เข้ามาลงทุน หากเรื่องรถไฟมีความชัดเจนขึ้น นักธุรกิจ นักลงทุนก็คงจะมองหนองคายเป็นอันดับต้น ๆ ที่จะเข้ามาลงทุน
อีกเหตุผลหนึ่งที่ภาคเอกชนในจังหวัดหนองคายไม่เข้าประมูลพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากส่วนใหญ่จะมีที่ดินของตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องเข้าไปอยู่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรอเพียงการปรับและประกาศผังเมืองรวมให้มีความเหมาะสม ภาคเอกชนก็จะสามารถลงทุนและพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์ได้
นอกจากนี้ การที่นักลงทุนชาวต่างประเทศ โดยเฉพาะนักธุรกิจจีนที่เคยเข้ามาศึกษาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคายแล้ว แต่ยังไม่เข้ามาลงทุน ส่วนหนึ่งมาจากการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและระยะเวลาที่ สปป.ลาวให้ไม่คุ้มค่า จึงทำให้นักลงทุนจากจีนหันไปลงทุนโครงการใหญ่ ๆ ใน สปป.ลาวแทน
“ตอนนี้ไม่เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย ที่ไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เขตพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดอื่นก็ไม่แตกต่างกัน จริง ๆ แล้วหนองคายมีความได้เปรียบจังหวัดอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ ให้เชื่อมต่อเป็นเครือข่าย เชื่อมโยงกันกับต่างประเทศ” นายกิตติพงษ์ย้ำ
แหล่งข่าวจากจังหวัดมุกดาหารเปิดเผยว่า ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ลงพื้นที่จังหวัดมุกดาหารเพื่อเปิดงานคลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ และได้พบปะกับผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่ที่ประกอบไปด้วย สภาหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สมาคมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัด และชมรมธนาคาร เพื่อหารือเกี่ยวกับการเดินหน้าเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะกรณีที่หลังการประมูลหาเอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ 1,080 ไร่ ครั้งที่ 2 แต่ยังมีเอกชนเพียงรายเดียวที่ยื่นซองประมูล และคาดว่ากรมธนารักษ์จะประกาศให้เอกชนมาซื้อซองอีกครั้งหนึ่ง เป็นครั้งที่ 3 ก่อนจะกำหนดทิศทางต่อไป
อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนมีความเห็นว่าควรให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้ามาพัฒนา และต้องการสร้างให้มุกดาหารเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ เนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กำหนดไว้ อาทิ อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และกิจการที่เกี่ยวข้อง, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอาจไม่ตอบโจทย์ในแง่ของการดึงดูดให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร
พร้อมกันนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนวทางการพัฒนาโลจิสติกส์ ด้วยการสร้างสถานีขนถ่ายสินค้าโดยรถบรรทุกขนาดใหญ่ หรือ Truck Terminal ทำโครงการควบคู่กับขนส่งทางราง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับปากว่า หลังจากนี้จะนำไปเสนอการนิคมฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พาณิชย์จังหวัดมุกดาหารได้จัดงานเปิดโอกาสการค้าการลงทุนในมุกดาหาร โดยให้เชิญนักธุรกิจไทยและต่างประเทศ หอการค้าในประเทศ หอการค้าต่างประเทศ มาร่วมงานเพื่อแสดงศักยภาพความก้าวหน้าและความพร้อมของจังหวัดในการรองรับการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร หลังจากที่มีนโยบายผลักดันให้จังหวัดมุกดาหาร เป็น “ท่าเรือบก ประตูตะวันออกสู่อาเซียน”
ปัจจุบันการค้าชายแดนของจังหวัดมุกดาหารมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าในช่วง 4 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.) มีมูลค่า 61,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94.78% โดยเป็นการส่งออก 35,594 ล้านบาท และนำเข้า 25,951 ล้านบาท ได้ดุลการค้า 9,643 ล้านบาท โดยมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
แสดงความคิดเห็น