ตำบลร่องจิก อำเภอภูเรือ ถือเป็นพื้นที่ปลูกแก้วมังกรที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย กว่า 3,500 ไร่ โดยเทศบาลร่องจิก และองค์การพื้นที่พิเศษ 5 เลยพยายามพัฒนาให้พื้นที่ตำบลร่องจิกเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวผสมผสานกับด้านการเกษตร จึงกำหนดจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรขึ้นในห้วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนตุลาคม 2560 ภายใต้โครงการเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปั่น-ชม-ชิมแก้วมังกรในสวน
นายธรรมนูญ ภาคธูป รองผู้จัดการพื้นที่พิเศษเลย 5 กล่าวว่า ทางเทศบาลฯ และ อพท.5 ได้ร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปั่น-ชม-ชิมแก้วมังกรในสวนขึ้น โดยงานเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกร
พื้นที่ของตำบลร่องจิกเป็นพื้นที่ราบสลับภูเขา มีอากาศเย็นสบายตลอดปี สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจได้หลายชนิด เช่น แก้วมังกร เงาะ ลำไย ลิ้นจี่ ข้าว ข้าวโพด ยางพารา ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันผลไม้ที่นิยมปลูกมาก และถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของตำบลที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวตำบลร่องจิกเป็นอย่างดี คือ แก้วมังกร ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกแก้วมังกรมากที่สุดในอำเภอภูเรือและจังหวัดเลย มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ รสชาติอร่อย หวาน กรอบ เนื้อแน่น น้ำหนักดี ผิวสวย เปลือกหนา และสามารถเก็บไว้ได้นาน
พื้นที่ปลูกแก้วมังกรในตำบลร่องจิกมีทั้งหมดประมาณ 3,500 ไร่ สามารถเก็บผลผลิตได้ประมาณ 3,000 ไร่ และสร้างรายได้ปีละกว่า 200 ล้านบาท ถือเป็นตลาดขายส่งแก้วมังกรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
นายธรรมนูญกล่าวต่ออีกว่า ในการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปั่น-ชม-ชิมแก้วมังกรในสวนครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะเกษตรกรที่ร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 13 สวน บนพื้นที่ 1,000 ไร่
กิจกรรมเปิดเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ปั่น-ชม-ชิมแก้วมังกรในสวนนั้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนั่งรถอีแต๋น/รถแต๊กๆ หรือปั่นจักรยานไปตามเส้นทางถนนสู่การเกษตรร่องจิก-บ้านนาคูณ-ชมและชิมแก้วมังกร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากแก้วมังกร พร้อมเรียนรู้วิถีคุณค่าของชาวเกษตรกรร่องจิกตามแนวเส้นทางที่กำหนด
นักท่องเที่ยวสามารถสมัครเข้าร่วมกิจกรรมได้ที่เทศบาลตำบลร่องจิก หรือเครือข่ายสถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ รังเย็นรีสอร์ท ภูเรือบุษบา ภูเรือบูทีค ภูเรือเรือนไม้ คาซ่าเดอปันดาว ภูนาคำ เมาเท่นกรีนรีสอร์ท บ้านชานภู เลยพันไมล์ ปนัดดารีสอร์ท หรือติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5) โทร. 0-4286-1116-8
แสดงความคิดเห็น