สถานีรถไฟหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และกลุ่มกะตอย (รักษ์) หัวหิน จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมถวายความอาลัย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ที่พระองค์ท่านมีต่อพสกนิกรชาวหัวหินขึ้น ที่บริเวณพลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ ที่ประทับทรงจตุรมุขทาสีครีม หลังคาสีแดง และป้ายสถานีรถไฟหัวหิน ที่มีอายุยาวนานถึง 90 ปี
เอกลักษณ์ที่โดดเด่น "แลนมาร์ค" สำคัญด้านการท่องเที่ยวของเมืองหัวหิน ที่มีนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกบันทึกภาพเป็นที่ระลึกมากกว่า 10 ล้านคน และเป็นสถานที่ยอดนิยมของชาวไทยและชาวต่างชาติในการถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง เพื่อซาบซึ้งกับบรรยากาศที่มีจุดมุ่งหมายของมหัศจรรย์แห่งรักที่ "หัวหิน ถิ่นมนต์ขลัง"
สำหรับการจัดนิทรรศการดังกล่าว มีการจัดแสดงพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และภาพประวัติศาสตร์แห่งความรัก หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ทรงเข้าประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ณ วังสระปทุม โดยมีการจัดแสดงภาพประทับใจ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2493 ล้นเกล้าทั้ง 2 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนรถไฟพระที่นั่งถึงสถานีรถไฟหัวหิน โดยมีประชาชนจำนวนมากเฝ้ารอรับเสด็จ หลังจากนั้นทั้งสองพระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังพระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล หัวหิน ตลอดระยะทางที่รถยนต์พระที่นั่งแล่นผ่าน มีประชาชนมารอรับเสด็จและส่งเสียงทรงพระเจริญกึกก้อง เป็นความสุขใจของชาวหัวหินที่ได้รับเสด็จในคราวนั้น
ขณะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ประทับพักผ่อนพระอิริยาบถอยู่ที่พระตำหนักเปี่ยมสุข พระราชวังไกลกังวล หัวหิน กองทัพเรือได้จัดเรือรบหลวงมาจอดถวายการอารักขา หน้าพระตำหนัก จำนวน 4 ลำ ได้แก่ เรือรบหลวงบางปะกง เรือรบหลวงบางแก้ว เรือรบหลวงบางระจัน และเรือรบหลวงโพธิ์สามต้น
นายประสงค์ โกมุก นายสถานีรถไฟหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า นอกจากนิทรรศการที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก มีการจัดสมุดลงนามถวายความอาลัย พิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ ตั้งแต่เวลา 07.00 น.ทุกเช้าวันเสาร์ จากนั้นในเวลา 19.00-22.00 น. ของทุกวัน จะมีการจุดเทียนและร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เพลงพ่อของแผ่นดิน และเพลงพระราชนิพนธ์ ทุกวันพุธจะบริการจากจิตอาสาชมรมช่างตัดผมหัวหิน ตัดผมฟรีทำความดีเพื่อพ่อบริเวณด้านหน้าพลับพลาที่ประทับ
"สถานีรถไฟหัวหิน เป็นสถานีรถไฟชั้น 1 ของทางรถไฟสายใต้ โดยอาคารสถาปัตยกรรมได้รับการยกย่องเป็นอาคารอนุรักษ์ อาคารหลังแรกก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ.2454 สำหรับอาคารที่เห็นในปัจจุบัน สร้างในปี พ.ศ.2469 โดยพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการรถไฟ ปัจจุบันมีการนำหัวรถจักรรถไฟรุ่นเก่า หรือรถไฟบอลวิลด์ ผลิตในประเทศอังกฤษ เคยนำมาใช้ก่อนสมัยสงคราโลกครั้งที่ 2 มาตั้งโชว์ และห้องสมุดรถไฟหัวหิน เป็นห้องสมุดรถไฟบริการประชาชนแห่งที่ 2 ของประเทศ นำโบกี้รถไฟเก่า จำนวน 2 โบกี้มาดัดแปลงทำเป็นห้องสมุดสำหรับประชาชน"
สำหรับพลับพลาที่ประทับ หรือ "พลับพลาสถานี" สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เดิมมีชื่อว่า พลับพลาสนามจันทร์ ตั้งอยู่ในบริเวณพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม มีไว้ในการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ เสด็จประทับทอดพระเนตรกองเสือป่าและลูกเสือทั่วประเทศ หลังจากสิ้นรัชสมัยของพระองค์ การรถไฟแห่งประเทศไทย จึงรื้อถอนมาเก็บไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.2517 ผู้ว่าการรถไฟฯ นำพลับพลาสนามจันทร์มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ที่หัวหิน เพื่อเป็นที่ประทับขึ้นและลงรถไฟของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และตั้งชื่อใหม่ว่า "พลับพลาพระมงกุฎเกล้าฯ"
นายประสงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในโอกาสครบรอบ 66 ปี แห่งพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน ที่ผ่านมา สถานีรถไฟหัวหิน เทศบาลเมืองหัวหิน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และองค์กรภาคเอกชน ร่วมกันจัดกิจกรรม "สถานีหัวหิน ความทรงจำแห่งรัก" โดยมีการจดทะเบียนสมรสหมู่ ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บริเวณป้ายสถานีรถไฟหัวหิน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อย้อนอดีตของเมืองหัวหินแหล่งที่พักตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก รวมทั้งการสร้างพื้นฐานของครอบครอบที่เข้มแข็งและยั่งยืนจากความรัก โดยมีการจดทะเบียนของคู่สมรสในบรรยากาศที่สร้างความประทับใจจากการฮันนีมูนแบบย้อนยุคหน้าหัวรถจักรโบราณ มีการนำเสนอความสำคัญของสถานีรถไฟหัวหินซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย
โครงการนี้จะจัดต่อเนื่องทุกปี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส และพระมหากรุณาธิคุณของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อพสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดรยะเวลาทรงครองราชย์ 70 ปี
ที่มา : บ้านเมือง
แสดงความคิดเห็น