ลมหนาวเริ่มโบกโบยมาแล้ว เป็นสัญญาณบอกว่าฤดูแห่งการเดินทางได้เริ่มต้นอีกครั้ง หลายคนเริ่มนัดหมายเพื่อนฝูง จัดกระเป๋าเสื้อผ้าเตรียมไปสัมผัสกับความหนาวเย็นตามยอดดอยและแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามซึ่งมีอยู่ทุกพื้นที่ในเมืองไทย
จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในจังหวัดทางภาคเหนือที่เป็นเป้าหมายปลายทางในอันดับต้นๆ ของนักเดินทาง เพราะมีความหลากหลายทางด้านแหล่งท่องเที่ยว วัฒนธรรม ประเพณี อาหารการกิน ของที่ระลึก สินค้าพื้นเมือง ตลอดจนความเป็นมิตรของผู้คน ประกอบกับมีสภาพอากาศที่หนาวเย็นนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวว่า สำหรับปีนี้ นอกจากการไปสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แล้ว จังหวัดเชียงใหม่ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวที่นับว่าเป็นเส้นทางตามรอยพระบาทถึง 7 แห่ง จากจำนวน 70 แห่ง ที่ ททท.แนะนำไว้ในหนังสือ "70 เส้นทางตามรอยพระบาท"
ทั้งนี้ เส้นทางตามรอยพระบาท 7 เส้นทางในจังหวัดเชียงใหม่ ได้แก่ เส้นทางที่ 1 พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ บนดอยสุเทพ-ปุย อำเภอเมืองฯ, เส้นทางที่ 2 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก อำเภอแม่ออน
เส้นทางที่ 3 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อำเภอแม่แตง, เส้นทางที่ 4 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก อำเภอเชียงดาว, เส้นทางที่ 5 ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง, เส้นทางที่ 6 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด และเส้นทางที่ 7 สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง อำเภอฝาง
"สำหรับปีนี้ อยากเชิญชวนให้คนไทยเลือกเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางตามรอยพระบาท เพราะนอกจากจะได้ตื่นตาตื่นใจกับความสวยงามมหัศจรรย์ของแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังได้เรียนรู้และรับทราบในสิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ต่างทรงทุ่มเท และทรงงานต่างๆ ผ่านโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมากมายหลายพันแห่ง เพื่อให้พสกนิกรไทยมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี" ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ กล่าว
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ ยังบอกด้วยว่า ททท.สำนักงานเชียงใหม่ ยังได้จัดทำหนังสือคู่มือเพื่อเป็นการต่อยอดจากหนังสือ
"70 เส้นทางตามรอยพระบาท" ขึ้นมาอีก 1 เล่ม ใช้ชื่อว่า "9 เส้นทาง ชวนกันแอ่วดอย ตามรอยพ่อหลวง" โดยบรรจุเรื่องของโครงการหลวงและโครงการในพระราชดำริในพื้นที่เชียงใหม่ ที่เชื่อมโยงกับเส้นทางการท่องเที่ยว มีกำหนดเปิดตัวในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้อีกด้วย
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า สำหรับเส้นทางตามรอยพระบาทที่ต้องการแนะนำเส้นทางแรก คือ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ตั้งอยู่ในวงล้อมแนวเทือกเขาดอยอินทนนท์ สถานที่แห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านขุนวาง ในปี พ.ศ.2523 แล้วทอดพระเนตรเห็นท้องทุ่งบริเวณนี้มีการปลูกฝิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก
พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำรัสให้กองพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการใช้ท้องทุ่งแห่งนี้เป็นสถานที่ทดลองและขยายพันธุ์พืชบนที่สูง เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่เกษตรกรบนที่สูง และเพื่อทดแทนการปลูกฝิ่น จนเป็นผลสำเร็จมาจนถึงทุกวันนี้
นักท่องเที่ยวที่มาเยือนศูนย์วิจัยเกษตร หลวงฯ จะได้ศึกษาพระราชกรณียกิจของพระองค์
ท่าน ที่ให้ทั้งความรู้ ความเพลิดเพลิน และได้สัมผัสกับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรไปพร้อมกัน อาทิ ได้เยี่ยมชมแปลงไม้ผลเมืองหนาวนานาชนิด เช่น สาลี่, พลัม, เนคทารีน หรือพืชประเภทลูกท้อ, สตรอว์เบอร์รี เดินชมแปลงทดลองการเกษตรซึ่งมีเจ้าหน้าที่นำชมตามเส้นทางที่กำหนด โดยมีจุดที่น่าสนใจ ได้แก่ แปลงไม้ผลเมืองหนาว, แปลงกาแฟ, โรงกะเทาะเปลือกกาแฟ และแปลงทดสอบพันธุ์แมคคาเดเมีย
สำหรับผู้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวในช่วงกลางเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ยังจะได้พบกับความสวยงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอย ที่พากันออกดอกสีชมพู สว่างไสวเต็มต้น ขับให้ดอยขุนวางกลายเป็นถนนแห่งความรักสุดแสนโรแมนติกไปทั้งดอย
สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวก ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) มีบ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 4 หลัง แต่ละหลังพักได้ตั้งแต่ 4-8 คน มีลานกางเต็นท์ 2 จุด คือ บริเวณลานหญ้าหน้าอาคารสำนักงาน และบริเวณหุบรับเสด็จ ทั้งสองจุดรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 100 คน นอกจากนี้ยังมีอาหารบริการในราคากันเอง และกาแฟอาราบิกาให้ชิมตลอดทั้งวัน เปิดทำการทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00-16.00 น.
ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า เมื่อมาศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) แล้ว เดินทางไปอีกนิดเดียวก็สามารถสัมผัสอุณหภูมิใกล้ศูนย์องศา ที่ยอดดอยของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นยอดดอยที่สูงสุดในประเทศไทย ด้วยความสูง 2,565 เมตร สำหรับช่วงนี้มีหมอกปกคลุมเกือบทั้งวัน และในตอนเช้าตรู่ บางวันอาจมีปรากฏการณ์น้ำค้างแข็ง หรือแม่คะนิ้งให้ได้เห็นอีกด้วย พื้นที่บริเวณนี้มีสภาพผืนป่าที่หลากหลาย ทั้งสภาพป่าดงดิบ ป่าสน ป่าเบญจพรรณ เหมาะแก่การไปเรียนรู้และเปิดประสบการณ์ใหม่ให้แก่ตัวเอง
ยังมีไฮไลต์สำคัญของพื้นที่นี้คือ การเดินป่าในเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นป่าดิบเขา (Hill evergreen forest) อันอุดมสมบูรณ์ ระหว่างทางเดินจะลัดเลาะไปตามริมผามีทัศนียภาพสวยงามด้วยไอหมอก และอาจพบพันธุ์ไม้หายาก เช่น กุหลาบพันธุ์ปี ซึ่งทุกจุดมีป้ายอธิบายให้ความรู้ตลอดทาง เส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานแห่งนี้ยังได้รับรางวัลดีเด่นประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ จากรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ของ ททท. ครั้งที่ 4 ประจำปี พ.ศ.2545 อีกด้วย
หลังจากเดินศึกษาธรรมชาติเสร็จแล้ว ถัดไปคือ การไปสักการะพระมหาธาตุนภเมทนีดล และพระมหาธาตุนภพลภูมิสิริ ที่สร้างถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ อันเป็นสถาปัตยกรรมงดงาม อยู่ท่ามกลางทิวทัศน์ของดอยอินทนนท์และไม้ดอกไม้ประดับสวยงามมากมาย
จากนั้นย้อนลงมาที่สถานีเกษตรหลวงอินท นนท์ ถือเป็นจุดชมดอกไม้ที่สวยงามมากอีกแห่งหนึ่ง ก่อตั้งปี พ.ศ.2520 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเป็นสถานีรวบรวมพันธุ์ไม้และดอกไม้เมืองหนาว รวมทั้งงานประมงพื้นที่สูงเพื่อการส่งออก ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้เกษตรชาวไทย รวมทั้งยังมีโครงการศึกษาและรวบรวมพันธุ์เฟิร์น, โครงการวิจัยกาแฟ และโครงการวิจัยฝรั่งคั้นน้ำ
ตลอดเส้นทางท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ยังมีน้ำตกแม่ยะ, น้ำตกสิริภูมิ, น้ำตกวชิรธาร, ถ้ำบริจินดา ซึ่งมีหินงอกหินย้อย
สวยงาม และธารหินที่เกิดประกายระยิบระยับสวยงามเมื่อต้องแสงสว่าง รวมทั้งยังมีกิจกรรมดูนกที่สำคัญนานาชนิดกว่า 380 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพอีกด้วย โดยอุทยานฯ มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีที่พักรองรับ แต่ควรสำรองที่ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์
"ทั้งหมดนี้ เป็นเส้นทางตามรอยพระบาท ที่พวกเราชาวไทยควรมีโอกาสได้ไปตามรอยพ่อหลวงของเราสักครั้งในชีวิต" ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ กล่าวเชิญชวนอีกครั้ง
ทั้งนี้ ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานเชียงใหม่ โทร. 0-5324-8604-5 และ ททท. 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย หรือติดต่อที่ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) โทร. 0-5311-4133, 0-5311-4136.
ข้อมูลโดย : สรณะ
แสดงความคิดเห็น