'บุรีรัมย์-สุรินทร์'เมืองต้องห้าม...พลาด Plus ถิ่นมหัศจรรย์ปราสาทสองยุค
การเดินทางท่องเที่ยวจากจังหวัดบุรีรัมย์ เชื่อมต่อไปยังจังหวัดสุรินทร์ นับเป็นเส้นทางที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวจำนวนมากในปัจจุบัน
ทั้งนี้นายชูเกียรติ โพธิโต ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุรินทร์ รับผิดชอบจังหวัดสุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และเป็นหนึ่งในเมืองต้องห้าม...พลาด ตามโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในปี 2558 เนื่องจากมีความโดดเด่นในเรื่องของแหล่งท่องเที่ยวยุคเก่าที่มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์และในทางโบราณคดี กับแหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่ที่มนุษย์ในยุคปัจจุบันสร้างขึ้น ซึ่งสามารถผสมผสานกันได้อย่างลงตัว
รวมทั้งมีความพร้อมในเรื่องของการคมนาคม โรงแรมที่พัก ซึ่งได้รับการปรับปรุงและสร้างใหม่เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างครบครันด้วย
ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์กล่าวต่อว่า จากจังหวัดบุรีรัมย์ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัดสุรินทร์ ถิ่นช้าง ซึ่งมีประเพณี วัฒนธรรมและวิถีชีวิต และสถาปัตยกรรมเก่าแก่จากยุคขอมโบราณ ดังนั้นในปี 2559 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงยกระดับให้สองจังหวัดนี้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงกันได้ ภายใต้โครงการเมืองต้องห้าม...พลาด Plus "บุรีรัมย์สุรินทร์ เมืองปราสาทสองยุค"
ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์ยังแนะนำเส้นทางท่องเที่ยวว่า ในส่วนของจังหวัดบุรีรัมย์อาจเริ่มต้นที่ปราสาทหินพนมรุ้ง เป็นปราสาทสร้างด้วยหินทรายสีชมพูงดงาม ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่บนยอดเขาพนมดงรัก ที่ได้รับสมญา "มงกุฎแห่งขุนเขาแดนสยาม" เพื่อสัมผัสสถาปัตยกรรมและอารยธรรมขอมโบราณอายุนับพันปี
ทั้งนี้ หากเดินทางมาในช่วงวันที่ 1-3 เมษายน 2559 จะพบกับงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี 2559 ที่อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 จนถึงปัจจุบันนับเป็นปีที่ 25 แล้ว
ภายในงานมีการประกอบพิธีสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนเขาพนมรุ้ง ชมริ้วขบวนหลวงของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าชายนเรนทราทิตย์ผู้สร้างปราสาทพนมรุ้ง และขบวนแห่เทพพาหนะทั้ง 10 พร้อมด้วยการแสดงวัฒนธรรมพื้นบ้าน การแสดงแสง สี เสียง บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปราสาทหินพนมรุ้งอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา
"สิ่งที่เป็นไฮไลต์ของงานขึ้นเขาพนมรุ้งที่ทุกคนเฝ้ารอคอยคือการได้ชมดวงอาทิตย์ขึ้น สาดแสงส่องผ่าน 15 ช่องประตูของปราสาทพนมรุ้ง ที่มีความสวยงามและถือเป็นปรากฏการณ์มหัศจรรย์หนึ่งเดียวในโลกด้วย" ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์กล่าว
จากนั้นไปต่อกันที่ วนอุทยานภูเขาไฟกระโดง ชมภูเขาไฟที่ดับสนิท แต่ยังเห็นร่องรอยปากปล่องภูเขาไฟในอดีตได้ชัดเจน บริเวณโดยรอบปกคลุมด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ บนภูเขายังมีโบราณสถานสมัยขอม รอยพระพุทธบาทจำลอง และพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของคนในจังหวัดบุรีรัมย์และประชาชนจังหวัดใกล้เคียง เป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมขึ้นไปชมทิวทัศน์ของตัวเมืองบุรีรัมย์และไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล
ยังมีปราสาทเมืองต่ำ ตั้งอยู่ที่อำเภอประโคนชัย เป็นสถาปัตยกรรมขอมโบราณ แต่มีจุดเด่นที่นาคห้าเศียรศีรษะเกลี้ยงล้อมรอบสระน้ำทั้งสี่ทิศ ไม่เหมือนปราสาทหินแห่งใด และใกล้ๆ กันนักท่องเที่ยวสามารถไปเยือนชุมชนโฮมสเตย์ "บ้านโคกเมือง" หมู่บ้านโอท็อปแหล่งผลิตข้าวหอมอินทรีย์ชั้นดี ที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจจากสมาชิกในชุมชน ช่วยกันรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านวัฒนธรรม หัตถกรรม และเกษตรกรรม ให้นักท่องเที่ยวได้ศึกษาเรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชีวิตผู้คนอย่างใกล้ชิด
ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์กล่าวต่อว่า สำหรับอีกหนึ่งไฮไลต์ของการมาเยือนบุรีรัมย์ที่ห้ามพลาดคือ ไปเยือนความอลังการของสนามฟุตบอล i-mobile Stadium และสนามแข่งรถมาตรฐานโลก "ช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต"
ต่อด้วย "เพลาเพลิน รีสอร์ท แอนด์ แอดเวนเจอร์แคมป์" แหล่งท่องเที่ยวสมัยใหม่สำหรับทุกคนในครอบครัวที่สร้างขึ้นบนเนื้อที่กว้างขวาง เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์การผจญภัยที่แปลกใหม่และท้าทาย ภายในมีการจำลองเอาสิ่งมหัศจรรย์ของโลกมาเป็นฐานกิจกรรมที่สร้างความตื่นเต้น สนุกสนานกับการให้หญ้าแกะ สัตว์น่ารักขวัญใจเด็กๆ รวมทั้งยังได้ชมความสวยงามของอุทยานไม้ดอกที่จัดแสดงไม้ดอก ไม้ประดับนานาพันธุ์ตามฤดูกาล
ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์กล่าวต่อว่า จากนั้นเดินทางต่อไปจังหวัดสุรินทร์ ดินแดนแห่งช้างใหญ่ ซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงและใช้เวลาเดินทางไม่นานนัก เป็นที่ตั้งของศูนย์คชศึกษา หรือหมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก จุดเด่นของช้างที่จังหวัดสุรินทร์คือ ชาวบ้านจะเลี้ยงช้างไว้ใต้ถุนบ้าน ให้ความรักและเลี้ยงดูเหมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว มีความผูกพันกันจนเกิดสายใยมิตรภาพระหว่างคนกับช้างมาเป็นร้อยปี โดยหมู่บ้านช้างเลี้ยงตั้งอยู่ในบริเวณบ้านตากลาง ตำบลกระโพ อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์
ที่ศูนย์คชศึกษาแห่งนี้มีนิทรรศการเรื่องราวของช้างสุรินทร์ ตั้งแต่เกิด และมีการแสดงพิธีกรรมก่อนออกไปคล้องช้างในอดีต ซึ่งเป็นประเพณีของชาวกูยโบราณให้ชม รวมทั้งมีสุสานช้างซึ่งสร้างไว้สำหรับเป็นที่ฝังศพช้าง อันเป็นการแสดงความรักและความอาลัยต่อช้างที่เลี้ยงไว้ในฐานะสมาชิกของครอบครัว
"สำหรับคนที่ชื่นชอบเรื่องของหัตถกรรม ต้องไม่พลาดหมู่บ้านทอผ้าไหมยกทองโบราณ ที่บ้านท่าสว่าง ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูการทอผ้ายกทองชั้นสูงแบบราชสำนักไทยโบราณ มีการออกแบบลวดลายที่สลับซับซ้อนงดงาม จนกลายเป็นผ้าทอที่มีความงดงามอย่างมหัศจรรย์และมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ได้รับการยกย่องที่สามารถรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้เห็นขั้นตอนตั้งแต่การย้อม การทอ จนถึงผลิตภัณฑ์ที่สำเร็จแล้ว และบริเวณเดียวกันยังมีผ้าไหมหลากหลายชนิดมาให้เลือกจับจ่ายซื้อหาเป็นของใช้สำหรับตัวเองหรือเป็นของฝากก็ได้" ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานสุรินทร์กล่าวในตอนท้าย และยังบอกด้วยว่า
สำหรับคนที่ยังไม่เต็มอิ่มกับการชมแหล่งท่องเที่ยวทางโบราณคดี ที่จังหวัดสุรินทร์ยังมีปราสาทหิน อาทิ กลุ่มปราสาทตาเมือนธม ที่สร้างด้วยศิลาแลง เป็นโบราณสถานสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งราชอาณาจักรขอม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความงดงาม อลังการ และไม่ควรพลาดชมเช่นกัน
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดและสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ 0-4451-4447 ได้ทุกวัน หรือที่ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย.
แสดงความคิดเห็น