ผ้าพื้นเมืองและเครื่องประดับ

ศาลหลักเมืองมุกดาหาร

ศาลหลักเมือง คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของหลักเมือง ซึ่งตามธรรมเนียมพิธีของศาสนาพราหมณ์ว่า ก่อนที่จะสร้างเมืองจะต้องทำพิธียกเสาหลัก เมืองในที่อันเป็นชัยภูมิสำคัญ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองที่จะสร้างขึ้น ศาลหลักเมืองในประเทศไทยส่วนใหญ่ทำจากไม้มงคล เช่น ชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ ในลักษณะเสา ปลายยอดเป็นดอกบัวตูม หรือหน้าเทวดา หรืออาจเป็นหลักหินโบราณ ใบเสมาโบราณ ที่พบในพื้นที่นั้นๆ ตัวศาลส่วนใหญ่เป็น ศาลาจตุรมุขทรงไทย มีประตูทั้งสี่ด้าน ยอดอาจเป็นแบบปรางค์ แบบปราสาท แบบมณฑป หรือเป็นศาลเจ้าแบบจีน ตามศรัทธาการก่อสร้างในพื้นที่นั้น บางพื้นที่อาจพบร่วมกันทั้งเสาหลักเมือง และศาลเจ้าแบบจีน ซึ่งมักมีองค์ประธานศาลเจ้าเป็นเทวรูปไม้หรือศิลา เรียกว่า เจ้าพ่อหลักเมือง หรือเจ้าแม่หลักเมือง สถานที่ตั้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชุมชนเมืองเก่า อาจเป็นตัวจังหวัด หน้าศาลากลางจังหวัด ในประเทศไทยจังหวัดส่วนใหญ่มีศาลหลักเมือง บางอำเภอก็มีศาลหลักเมือง ซึ่งยังคงเรียกว่า ศาลหลักเมืองเนื่องจากบางอำเภอก็เป็นเมืองเก่า ก่อนถูกลดฐานะลงเป็นอำเภอในปัจจุบัน ตามชุมชนเล็กๆ อื่นๆก็อาจมีศาลประจำชุมชนเหมือนกัน แต่จะเรียกเป็นศาลหรือเจ้าที่ประจำหมู่บ้าน ชุมชน

ศาลหลักเมืองมุกดาหาร ตั้งอยู่บนถนนสองนางสถิตย์ (บริเวณตลาดราตรี) หน้าศาลากลางจังหวัด เป็นที่เคารพสักการะ ของชาวจังหวัดมุกดาหาร ตัวศาลมีลักษณะเป็นแบบทรงไทยจตุรมุข กว้าง 4 เมตร ยาว 7 เมตรมีมุขยื่นออกมา ด้านละ 2 เมตร สูงจากฐานถึงยอดหลังคา 8.45 เมตร บริเวณรอบตัวอาคารเป็นระเบียงยกพื้นสูง 0.85 เมตร ความกว้าง 16 เมตร ยาว 19 เมตร ส่วนเสาหลักเมือง มีลักษณะเป็นเสากลมเกลี้ยงยอดทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์ ลงรักปิดทอง มีพิธีบวงสรวงในวันที่ 9 มกราคม ตรงกับวัน "งานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง" เป็นประจำทุกปี  ปัจจุบันงานรวมเผ่าไทยมุกดาหาร มะขามหวานชายโขง ได้เปลี่ยนชื่องานเป็น "งานกาชาดและงานประจำปีจังหวัดมุกดาหาร"

Author Name

ฟอร์มรายชื่อติดต่อ

ชื่อ

อีเมล *

ข้อความ *

ขับเคลื่อนโดย Blogger.